top of page
ค้นหา

แม่ท้อง ต้องกินวิตามินบำรุงไหม?



แม่ท้อง หรือ แม่ๆ ตั้งครรภ์ อาจมีความกังวลใจว่าลูกในครรภ์จะได้รับสารอาหารเพียงพอหรือไม่ ลูกจะสมบูรณ์แข็งแรงหรือไม่ จึงมีประเด็นสงสัยว่าระหว่างที่ตั้งครรภ์นั้นควรทานวิตามินเสริมเพื่อเพิ่มสารอาหารให้เจ้าตัวน้อยในครรภ์ดีหรือเปล่านะ...


แม่ท้อง ต้องกินวิตามินไหม และมีวิตามินใดที่ควรทานเสริมบ้าง?


จริงๆ แล้วเพียงแค่คุณแม่ดูแลสุขภาพและอาหารการกินของตัวเองให้ดี ด้วยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เช่น กินโปรตีนจากไข่ นม และวิตามินของคนท้องตามที่คุณหมอแนะนำ เช่น โฟลิก วิตามินรวม วิตามิน อี ซี (สำหรับคุณแม่ที่ไม่ชอบกินผักและผลไม้) ดื่มนมให้ได้วันละ 1 ลิตร เพื่อป้องกันตะคริว และเมื่ออายุครรภ์เข้าสู่เดือนที่ 4-5 ควรเสริมธาตุเหล็ก เพื่อให้ลูกเอาไปสร้างเม็ดเลือด และเพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมกับการเสียเลือดตอนคลอดก็พอแล้วค่ะ


อย่างไรก็ตามหากแม่ๆ มีความกังวลเรื่องสารอาหารที่อาจไม่เพียงพอ ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะทาน

วิตามินใดๆ เพื่อให้แพทย์เป็นผู้สั่งจะปลอดภัยที่สุดค่ะ


10 วิตามินที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรับประทานเพื่อบำรุง


โดยวิตามินที่คนท้องควรได้รับได้แก่...


1.กรดโฟลิก


กรดโฟลิก ถือเป็นวิตามินที่สำคัญที่สุดสำหรับการตั้งครรภ์ เนื่องจากกรดโฟลิกจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะหลอดประสาทไม่ปิดในทารกในครรภ์ ซึ่งหากเกิดภาวะนี้ จะทำให้การพัฒนากระดูกหลังหรือไขสันหลังในทารกไม่สมบูร๕์ และยังทำให้การพัฒนาของสมองส่วนสำคัญของทารกไม่สมบูรณ์อีกด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุให้ทารกที่คลอดออกมาพิการหรือมีชีวิตไม่ยืนยาวได้


ปริมาณของกรดโฟลิกที่หญิงตั้งครรภ์ทุกคนควรได้รับต่อวันคือ 400 ไมโครกรัมในช่วงก่อนการตั้งครรภ์ตลอดไปจนถึง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ และ 600 ไมโครกรัมในช่วงเดือนที่ 4-9 ของการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังควรทานกรดโฟลิกตลอดไปจนถึงช่วงของการให้นมบุตร โดยควรทาน 500 ไมโครกรัมต่อวัน


2.ธาตุเหล็ก


โรคโลหิตจาง เป็นโรคที่พบได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์ โดยโรคโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์นั้นมักเกิดจากการที่ร่างกายขาดธาตุเหล็กนั่นเอง หากแม่ท้องขาดธาตุเหล็กระหว่างตั้งครรภ์ จะส่งผลกระทบหลายอย่างต่อลูกในท้อง ดังนี้ เพิ่มความเสี่ยงในการแท้ง การคลอดก่อนกำหนด ลูกในครรภ์น้ำหนักน้อย ลูกในครรภ์มีโลหิตจาง หากโลหิตจางมาก อาจทำให้เกิดน้ำคร่ำน้อย ซึ่งทำให้เด็กเสียชีวิตในครรภ์ได้ นอกจากนั้นยังอาจเกิดอันตรายกับมารดาในช่วงคลอด เพราะอาจตกเลือดจนเสียชีวิตได้ค่ะ


การตั้งครรภ์เป็นสาเหตุของโรคโลหิตจางได้ เนื่องจากในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ น้ำเหลือง (พลาสม่า) จะเพิ่มมากกว่าเม็ดเลือดแดง ทำให้เสมือนว่าเม็ดเลือดแดงซึ่งอยู่ในน้ำเหลืองมีจำนวนน้อยลง อีกทั้งธาตุเหล็กจากการรับประทานอาหารมักไม่เพียงพอ เนื่องจากแม่ท้องต้องการธาตุเหล็กมากกว่าคนปกติ เพื่อเสริมสร้างส่วนของทารกและส่วนของมารดา โดยแม่ท้องต้องการธาตุเหล็กตลอดการตั้งครรภ์จำนวน 1,000 มิลลิกรัม โดยจำนวน 300 มิลลิกรัม ไปสร้างส่วนที่เป็นรกและทารก จำนวน 500 มิลลิกรัม ไปเพิ่มส่วนที่เป็นโลหิตของแม่ และจำนวน 200 มิลลิกรัม ถูกขับออกทางอุจจาระ ปัสสาวะ และเหงื่อ ดังนั้นคนท้องทุกคน จึงต้องเสริมธาตุเหล็ก


3.แคลเซียม


แคลเซียม เป็นสารอาหารที่ทราบกันดีว่ามีส่วนในการเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง สำหรัมแม่ท้อง ก็เป็นสารอาหารที่สำคัญเช่นเดียวกัน เพราะแคลเซียมที่แม่ท้องได้รับขณะตั้งครรภ์ จะไปช่วยพัฒนาโครงสร้างร่างกาย กระดูก และฟันของทารกในครรภ์ แม่ท้องที่ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอขณะตั้งครรภ์ ไม่มีผลกระทบใด ๆ กับทารกในครรภ์ เนื่องจากลูกในท้องสามารถดึงแคลเซียมที่สะสมอยู่ในกระดูกของคุณแม่มาใช้ได้ เมื่อถูกดึงแคลเซียมมาใช้มาก ๆ เข้า จะเกิดผลกระทบกับตัวแม่ท้องเองในระยะยาว เช่น ทำให้กระดูกเปราะบาง ผุง่ายกว่าปกติ ฟันผุง่ายขึ้น ซึ่งจะแสดงอาการเมื่อแม่่ท้องมีอายุมากขึ้น นอกจากนี้ แม่ท้องที่ขาดแคลเซียมมักจะเป็นตะคริวบ่อย เพราะการขาดแคลเซียม จะทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อปวดเกร็งได้บ่อย ๆ นั่นเอง


ในคนปกติ ร่างกายจะดูดซึมแคลเซียมครั้งละ 500-600 มิลลิกรัม แต่ปริมาณแคลเซียมที่คุณแม่ท้องต้องการนั้นสูงถึงวันละ 1,000-1,200 มิลลิกรัม เพราะแคลเซียมในตัวคุณแม่ได้ถูกดึงไปใช้ในการเสริมสร้างกระดูกของเจ้าตัวเล็ก โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2 นอกจากแคลเซียมจะเป็นส่วนประกอบสำคัญของกระดูก ฟัน และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ยังช่วยทำให้กระบวนการต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างปกติ เช่น ระบบของกล้ามเนื้อ ระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น


4.ไอโอดีน


ไอโอดีน เป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบประสาทของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หากหญิงตั้งครรภ์ได้รับสารไอโอดีนในปริมาณไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้เด็กในครรภ์มีความพิการทางสมองได้ เป็นภาวะอันตรายที่สามารถป้องกันได้ ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์จึงควรได้รับสารไอโอดีนอย่างเพียงพอจากการบริโภคอาหาร เนื่องจากสารไอโอดีนเป็นสารที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ โดยลูกในท้องจะต้องได้รับจากมารดาเท่านั้น ส่วนตัวแม่ท้องเองจะสามารถรับสารไอโอดีนได้จากการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารไอโอดีน หรือได้รับจากยาเสริมธาตุไอโอดีน


นอกจากนี้ยังพบว่าในหญิงตั้งครรภ์จะมีการทำงานของไตที่หนักกว่าคนทั่วไป ทำให้เกิดการขับไอโอดีนออกจากร่างกายปริมาณมากกว่าคนอื่น จึงควรบริโภคไอโอดีนให้มากกว่าปกติ โดยไอโอดีนจะถูกส่งไปยังทารกในครรภ์ผ่านทางรก และหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับไอโอดีน 170-200 ไมโครกรัมต่อวัน ทางที่ดีสำหรับการรับสารไอโอดีนของหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับก่อนตั้งครรภ์เป็นเวลา 5 เดือน หากมีการวางแผนที่จะมีบุตร


5.วิตามินซี


วิตามินซี เป็นวิตามินที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยให้สมองทำงานได้ดีขึ้น และยังช่วยให้ผนังหลอดเลือดแข็งแรงอีกด้วย การขาดวิตามินซี จะทำให้ร่างกายแม่ท้องไม่แข็งแรง ป่วยง่าย มีเลือดออกตามไรฟัน เป็นต้น


วิตามินซียังมีความสำคัญกับลูกในท้อง โดยมีส่วนช่วยสร้างอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายของลูกในท้องทำงานดี เจริญเติบโตดี โดยเฉพาะช่วงไตรมาสแรกจะช่วยให้รกแข็งแรงและดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้นด้วย แม่ท้องควรได้รับวิตามินซี 80-85 มิลลิกรัมต่อวัน


6.วิตามินอี


วิตามินอีจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงและป้องกันภาวะแท้งและครรภ์เป็นพิษได้ โดยปริมาณวิตามินอีที่เหมาะสมกับแม่ตั้งครรภ์ คือ ประมาณวันละ 10-15 มิลลิกรัม


7.วิตามินดี


การขาดวิตามินดีในแม่ท้อง อาจส่งผลให้เกิดกระดูกหักหรือผิดรูปได้ในทารกแรกเกิดได้ เพราะวิตามินดี ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกให้แก่ทารกในครรภ์ ทำให้โครงสร้างกระดูกมีความสมบูรณ์เมื่อทารกโตขึ้น ปริมาณที่เหมาะสมของการทานวิตามินดีในหญิงตั้งครรภ์ปกติที่ไม่ได้มีภาวะขาดวิตามินดี อยู่ที่วันละ 400 หน่วยสากล (IU)


8.สังกะสี


สังกะสี เป็นสารอาหารชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อระบบการทำงานของร่างกาย มีบทบาทสำคัญในการสังเคราะห์โปรตีนเอนไซม์ต่าง ๆ มากกว่า 300 ชนิดในร่างกายของเรา นอกจากนี้ยังมีผลต่อการเจริญเติบโตของกระดูกของลูกในท้องอีกด้วย แม่ท้องที่ขาดธาตุสังกะสี จะส่งผลให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด ทารกในครรภ์เติบโตช้ากว่าปกติ ส่งผลให้เกิดความพิการ การเสียเลือดหลังคลอด ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ควรได้รับสังกะสีวันละ 20-25 มิลลิกรัม


9.วิตามินบีรวม (บี1 บี2 บี3 บี6 บี12)


วิตามินบี 1 มีผลต่อการพัฒนาระบบประสาทส่วนกลางของทารก และในกรณีที่ได้รับมิตามินนี้น้อยไป จะมีผลเสียต่อหัวใจและปอดของทารกได้


วิตามินบี 2 มีส่วนอย่างมากกับการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ให้เจริญเติบโต ถ้าได้รับน้อยเกินไป จะส่งผลทำให้สมองของทารกพัฒนาได้ไม่เต็มที่ หรือมีขนาดเล็กกว่าปกติ


วิตามินบี 6 มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับระบบการทำงานของสมองและการทำงานของระบบประสาท ของทั้งแม่ท้องเองและลูกในท้อง


วิตามินบี 12 ช่วยในการทำงานของระบบประสาท และช่วยในการผลิตเม็ดเลือดแดง ทำให้ทารกเติบโตตามปกติ ไม่เกิดอาการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นตัวสำคัญในการนำเอาออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายและสมองของทารก


ในหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามินบีรวมในปริมาณต่อไปนี้ วิตามินบี 1 (thiamine) 3 มิลลิกรัม / วิตามินบี 2 (riboflavin) 2 มิลลิกรัม / วิตามินบี 3 (niacin) 20 มิลลิกรัม / วิตามินบี 12 ปริมาณ 6 ไมโครกรัม


10.โอเมก้า 3


โอเมก้า 3 จะช่วยควบคุมระดับฮอร์โมนของแม่ท้อง ทำให้มดลูกแข็งแรง ช่วยเรื่องการไหลเวียนของโลหิต ลดภาวะคลอดก่อนกำหนด ทำให้น้ำหนักตัวลูกดี เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่และคุณลูก ควรกิน

โอเมก้า 3 หรือน้ำมันปลาเป็นประจำ แต่เนื่องจากการทานปลาทะเลเป็นประจำ ก่อให้เกิดการสะสมสารตะกั่วในร่างกายได้ ดังนั้น การทานวิตามินที่มีโอเม้า 3 จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับแม่ท้อง


ทั้งนี้วิตามินส่วนใหญ่ที่กล่าวมา แม่ๆ สามารถได้รับจากการรับประทานอาหารโดยทั่วไป ดังนั้นทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลากหลายก็เพียงพอค่ะ การทานวิตามินเสริมก็เป็นอีกทางหนึ่งในการเพิ่มสารอาหารให้แม่และทารกในครรภ์แต่ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์นะคะ


บทความที่น่าสนใจ

ดู 10,162 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Commenti


ครูก้อย.jpg

คุยกับครูก้อย/ทีมงาน

ครูก้อยเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เบบี้แอนด์มัม (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นเจ้าของเพจ BabyAndMom.co.th (เพจให้ความรู้สำหรับผู้มีบุตรยาก) ครูก้อยยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่านใดที่ต้องการคุยกัน สามารถทัก LINE@ เข้ามาได้เลยนะคะ โดยจะมีครูก้อยและทีมงานคอยให้การต้อนรับค่ะ

bottom of page