10 สาเหตุ "ท้องยาก"
คู่สมรสหลายคู่ที่อยากมีเบบี๋ แต่พยายามมาเป็นปีเจ้าตัวน้อยก็ยังไม่มาซักที ทำไมเราจึงลูกยากจัง❓วันนี้เราไปศึกษาสาเหตุการมีบุตรยากกันค่ะ
🔴 ภาวะมีบุตรยาก หมายถึง.....
การที่คู่สมรสไม่สามารถมีการตั้งครรภ์ได้
โดยที่ทำการบ้านกันอย่างสม่ำเสมอ(อาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง)
และไม่ได้คุมกำเนิดมาเป็นระยะเวลา 1 ปี
หรือระยะเวลา 6 เดือนในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหญิงที่มีอายุเกิน 35 ปีขึ้นไป
🔴ภาวะมีบุตรยากแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1. ภาวะมีบุตรยากแบบปฐมภูมิ (Primary infertility) หมายถึง ภาวะมีบุตรยากในคู่สมรสที่ไม่เคยมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นมาก่อนเลย
2. ภาวะมีบุตรยากแบบทุติยภูมิ (Secondary infertility) หมายถึง ภาวะมีบุตรยากในคู่สมรสที่เคยมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นมาแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง โดยที่ไม่ว่าการตั้งครรภ์นั้นที่เป็นการตั้งครรภ์ที่สิ้นสุดลงด้วยการแท้งหรือการคลอดก็ตาม
🔴 ภาวะมีบุตรยากมาจากสาเหตุใดบ้าง❓
🧑#สาเหตุจากฝ่ายชาย
ประมาณร้อย ละ 20-40 ซึ่งสามารถพิสูจน์ทราบได้โดย #การตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ
🙎♀️สาเหตุจากฝ่ายหญิง
ประมาณร้อยละ 60 - 70
▶️#ไม่ทราบสาเหตุ หาสาเหตุไม่พบ
ประมาณร้อยละ 10-20
วันนี้ครูก้อยสืบค้นและรวบรวม 10 สาเหตุหลักของการมีบุตรยากที่เป็น #สาเหตุจากฝ่ายหญิงมาฝากกันค่ะ แม่ๆต้องรีบอ่านและศึกษาอยางจริงจังนะคะเพื่อจะได้ตรวจเช็คเบื้องต้นว่าเรามีอาการ หรือ ความผิดปกติเหล่านี้หรือไม่ พบแล้วก็อย่านิ่งนอนใจต้องรีบไปปรึกษาแพทย์ให้วินิจฉัยอย่างละเอียดและรักษาต่อไปค่ะ เพื่อจะได้มีลูกน้อยมาเติมเต็มครอบครัวไวๆไงคะ (คลิกอ่านรายละเอียดใต้รูปเลยค่ะ👇👇)
1. PCOS ไข่ไม่ตกเรื้อรัง
PCOS (Polycystic Ovary Syndrome) หรือกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่
คือ ความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ ทำให้ผู้ป่วยมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน แอนโดรเจน และอินซูลินอยู่ในภาวะที่ไม่สมดุล เกิดถุงน้ำขนาดเล็กจำนวนหลายใบอยู่ในรังไข่ ซึ่งอาจเกิดเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง รังไข่จึงมีขนาดโตขึ้น และอาจส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ สิวขึ้น ขนดก หรือมีบุตรยาก โดยมักพบในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์เป็นหลัก
3 สาเหตุของกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่
👉งานวิจัยทางการแพทย์ยังไม่สามารถสรุปถึงสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิด PCOS ได้ อย่างไรก็ตาม พบว่ามีปัจจัยบางอย่างที่อาจส่งผลให้เกิด PCOS
ภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล ทางการแพทย์ยังไม่สามารถยืนยันถึงสาเหตุ ที่ส่งผลให้ฮอร์โมนอยู่ในภาวะไม่สมดุล แต่เป็นไปได้ว่า อาจเกิดจากความผิดปกติของรังไข่เอง ต่อมผลิตฮอร์โมนชนิดต่าง ๆ ในร่างกาย หรือสมองซึ่งมีหน้าที่ควบคุมฮอร์โมน รวมถึงภาวะดื้ออินซูลิน ที่ทำให้ฮอร์โมนมีปริมาณเปลี่ยนไป ความผิดปกติของฮอร์โมนที่มักพบในผู้ป่วย PCOS คือ
👉ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนมีปริมาณสูงกว่าปกติ เทสโทสเทอโรน คือฮอร์โมนเพศชายชนิดหนึ่ง โดยปกติจะถูกผลิตขึ้นในร่างกายของเพศหญิงปริมาณเล็กน้อย ระดับเทสโทสเทอโรนที่สูงมากกว่าระดับทั่วไปส่งผลให้ร่างกายเกิดความผิดปกติได้
👉ฮอร์โมนลูทิไนซิง หรือแอลเอชมีปริมาณสูงกว่าปกติ ลูทิไนซิง คือฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นการตกไข่ ซึ่งหากมีปริมาณมากเกินไป อาจส่งผลให้รังไข่ทำงานไม่ปกติ
👉Sex Hormone Binding Globulin หรือ SHBG มีปริมาณต่ำกว่าปกติ SHBG คือโปรตีนในเลือดชนิดหนึ่ง มีหน้าที่ช่วยควบคุมปฏิกิริยาของฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนที่มีต่อร่างกาย ปริมาณ SHBG ที่ต่ำลงจึงส่งผลให้ร่างกายผิดปกติจากฮอร์โมนเพศชายที่สูงขึ้น
👉ฮอร์โมนโพรแลกตินมีปริมาณสูงกว่าปกติ โพรแลกตินเป็นฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นให้ต่อมน้ำนมหลั่งน้ำนมในหญิงตั้งครรภ์ หากมีปริมาณมากเกินไป อาจส่งผลให้ร่างกายเกิดความผิดปกติ และพบในเฉพาะหญิงสาวบางรายเท่านั้น
ภาวะดื้ออินซูลิน อินซูลินคือฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ถูกผลิตขึ้นภายในตับอ่อน นอกจากมีหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด อินซูลินยังทำหน้าที่กระตุ้นให้รังไข่ผลิตฮอร์โมนเพศชายชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เทสโทสเทอโรน ผู้หญิงที่มีภาวะดื้ออินซูลิน หรือภาวะที่เซลล์ในร่างกายไม่ตอบสนองกับปริมาณอินซูลินปกติ ทำให้ตับอ่อนต้องผลิตอินซูลินเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้รังไข่ผลิตฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนมากขึ้นไปด้วย โดยปริมาณอินซูลินและเทสโทสเทอโรนที่มากผิดปกติ จะกระทบต่อการสร้างถุงน้ำในรังไข่ การตกไข่ ลักษณะทางกายภาพ และน้ำหนักตัวของผู้ป่วย ดังนั้น ภาวะดื้ออินซูลิน จึงอาจเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิด PCOS
3.พันธุกรรม บุคคลที่มีคนใกล้ชิดทางสายเลือดเป็น PCOS จะมีความเสี่ยงต่อการเป็น PCOS มากกว่าบุคคลอื่น ในปัจจุบัน นักวิจัยกำลังศึกษาถึงยีนส์เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของ PCOS แต่ยังไม่มีผลลัพธ์ออกมาเป็นที่ชัดเจน
อาการของกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่
👉สตรีที่มีภาวะ PCOS มักมีอาการหรือรู้สึกถึงความผิดปกติภายหลังจากมีประจำเดือนครั้งแรก
ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลัก ๆ ดังนี้ค่ะ
1. ผมร่วง เนื่องจากมีฮอร์โมนเพศชายสูงส่งผลให้มีผมร่วงผิดปกติ หรือเป็นโรคศีรษะล้านทางพันธุกรรม (Male-Pattern Baldness) ซึ่งทำให้ผมร่วงและผมบาง
2. เป็นสิวเรื้อรัง หน้ามัน เนื่องจากมีฮอร์โมนเพศชายสูง
3. ปวดท้องน้อย ถ่ายปัสสาวะบ่อย ถ่ายอุจจาระลำบาก มีอาการปวดบิด ปวดหน่วงๆ หรือเจ็บเมื่อมีเพศสัมพันธ์
4. ขนดก เนื่องมาจากมีฮอร์โมนเพศชายสูง
5. ประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น ประจำเดือนไม่มาติดต่อกันนานหลายเดือน ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนมานานและอาจมามากหรือน้อยผิดปกติ
6. อ้วน ผู้ป่วย PCOS มักพบร่วมกับภาวะอ้วน โดยพบได้ร้อยละ 35-76 ลักษณะเป็นอ้วนแบบลงพุงหรือ Android obesity และเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะดื้ออินซูลิน
7. มีบุตรยาก เนื่องจากภาวะนี้ทำให้การตกไข่ผิดปกติ ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติจึงเป็นสาเหตุให้มียุตรยาก รวมถึงไข่หลายใบที่มีเป็นไข่ใบเล็กๆด้อยคุณภาพจึงยากที่จะปฏิสนธิอย่างสมบูรณ์
8.ระดับฮอร์โมนเพศชายสูงขึ้น ฮอร์โมนแอนโดรเจนที่สูงขึ้น ส่งผลต่อลักษณะทางกายภายของผู้ป่วย เช่น มีขนขึ้นตามหน้าและส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย มีสิวขึ้นมากผิดปกติ เสียงเปลี่ยน
แนวทางการรักษา
สำหรับผู้ที่มีปัญหาไข่ไม่ตกเรื้อรังน้ัน จะมีความแตกต่างจากภาวะไข่ไม่ตกธรรมดา หลักการของการรักษาคือการกระตุ้นให้มีการโตของไข่ ร่วมกับป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในขณะรักษา โดยธรรมชาติของผู้หญิงที่มีปัญหาไข่ไม่ตกเรื้อรัง จะพบว่ารังไข่น้ันดื้อต่อการใช้ยากระตุ้นไข่ชนิดกิน แต่จะตอบสนองต่อการกระตุ้นไข่ด้วยยาฉีดที่มากกว่าคนทั่วไป ดังน้ันการกระตุ้นไข่เพื่อให้ได้ไข่ตกเพียงแค่ 1หรือ 2 ใบและใช้วิธีธรรมชาติน้ันอาจจะประสบความสำเร็จได้ยาก ในขณะเดียวกันการกระตุ้นไข่ด้วยยาฉีดก็อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนคือการได้ไข่มากเกินความต้องการ ทำให้ไม่สามารถใช้วิธีธรรมชาติได้ หรือถ้าใช้วิธีธรรมชาติอาจจะตั้งครรภ์แฝดที่มากเกินกว่าสองคน นอกจากนี้ยังเกิดภาวะบวมน้ำ หรือ ภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป จะมีคลื่นไส้อาเจียนอย่างมากในช่วงกระตุ้นไข่และช่วงตั้งครรภ์
PCOS เยียวยาได้ด้วยโภชนาการที่ถูกต้อง
ครูก้อยแนะนำผู้หญิงที่มีภาวะPCOS ให้ทานอาหารที่มีโภชนาการสูงเพื่อบรรเทาอาการได้ค่ะ โดยเน้นโปรตีน ลดของมันของทอด งดหวานเด็ดขาด เน้นทานผักผลไม้สด และธัญพืชที่ให้คุณค่าทางอาหารและไฟเบอร์สูงค่ะ
👉กลุ่มคน PCOS (ไข่ไม่ตก ปจด.ไม่ปกติ เป็นถุงน้ำในรังไข่) นอกจากให้เน้นน้ำมะกรูด+โปรตีนแล้วต้องงดหวานเด็ดขาด!! และเน้น อาหารพวก DASH Diet เพื่อไม่ให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดฮอร์โมนแอนโดรเจนสูง (ฮอร์โมนเพศชาย) ซึ่งไปเหนี่ยวนำให้วงจรการตกไข่ผิดปกติ
👉หลักการสำคัญของการรับประทานอาหารแบบ DASH คือ ลดการบริโภคอาหารที่มีเกลือโซเดียม ลดแป้ง ลดไขมันอิ่มตัว ไขมันรวมและคอเรสเตอรอลลง และเพิ่มการรับประทานธัญพืช ผักผลไม้สด โปรตีน
📚มีงานวิจัยที่สนับสนุนการการทานอาหารแบบ DASH Diet ต่อการลดน้ำหนักและลดระดับไขมันของผู้ป่วย PCOS เรื่อง”DASH Diet, Insulin Resistance, and Serum hs-CRP in Polycystic Ovary Syndrome: A Randomized Controlled Clinical Trial” ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Hormone and Metabolic Research ผลวิจัยพบว่าผู้หญิงที่มีน้ำหนักเกินที่ทานอาหารแบบ DASH เป็นเวลา 8 สัปดาห์ จะช่วยทำให้การดื้ออินซูลินลดลง ลดการสะสมของไขมันในช่องท้องเมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิงที่ไม่ได้ทานอาการประเภทนี้ ซึ่งผลดีดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อรักษาอาการของโรค PCOS นั่นเองค่ะ
2. ท่อนำไข่อุดตัน
ท่อนำไข่เป็นอวัยวะส่วนที่ต่อมาจากส่วนของมดลูก โดยหน้าที่นั้นเป็นท่อให้ไข่กับอสุจิไปพบกัน ต่างคนต่างมาพบกันครึ่งทางที่ประมาณกลางท่อนำไข่ และปฏิสนธิกันตามธรรมชาติ หลังจากน้ันตัวอ่อนที่ผสมแล้ว จะเคลื่อนตัวออกจากท่อนำไข่มาฝังตัวในมดลูก และเจริญพัฒนาเป็นมนุษย์ต่อไป
เมื่อท่อนำไข่อุดตัน ไม่ว่าจะอุดตันที่ส่วนไหนๆของท่อนำไข่ ก็จะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางของไข่และอสุจิ ทำให้ไข่กับอสุจิไม่ไปพบกัน ดังน้ันการปฏิสนธิตามธรรมชาติจึงไม่เกิดขึ้น
👉 อาการที่พบ
ภาวะนี้แทบไม่ก่อให้เกิดอาการ ต่างจากการไม่มีไข่ตก ซึ่งประจำเดือนที่มาไม่สม่ำเสมออาจช่วยบ่งบอกปัญหาได้
ชนิดของการอุดตันของท่อนำไข่แบบพิเศษที่เรียกว่า Hydrosalpinx หรือท่อนำไข่โป่งพองเป็นถุงน้ำ อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อย และตกขาวผิดปกติได้ แต่ไม่ใช่ว่าผู้หญิงทุกคนจะมีอาการ
👉 สาเหตุที่ทำให้เกิดท่อนำไข่อุดตัน❓
มักเกิดจากการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานมาก่อน ซึ่งอาจจะไม่มีอาการในบางราย หลังการอักเสบหายไป สิ่งที่หลงเหลือคือการเกิดพังผืดในท่อนำไข่ทำให้ท่ออุดตัน และมักจะมีพังผืดภายนอกบริเวณผิวมดลูกกับรังไข่และท่อนำไข่ร่วมด้วย
👉 ท่อนำไข่บวมน้ำ
เกิดจากมีการอุดตันของท่อนำไข่ อาจจะด้วยการติดเชื้อ หรือมีพังผืดมารัดคลุมตรงส่วนปลายท่อ จะทำให้ของเหลวที่ท่อนำไข่สร้างขึ้นมา ไม่สามารถระบายออกมาที่ปลายท่อได้ และจะสะสมอยู่ในท่อนำไข่จนโป่งพองกลายเป็นถุงน้ำ ( hydrosalpinx ) ซึ่งจะทำให้มีผลเสียต่อการตั้งครรภ์ คือ
มีการไหลย้อนกลับของน้ำภายในท่อนำไข่ที่โป่งพองนี้ เข้าสู่โพรงมดลูก ทำให้น้ำนี้ไปพัดพาตัวอ่อน ยับยั้งตัวอ่อนจากการฝังตัว
มีการหลั่งสารอักเสบบางตัว ทำให้โพรงมดลูกรับการฝังตัว ของตัวอ่อนน้อยลง
พิษของน้ำที่ขังในท่อนำไข่ มีผลต่อการเจริญเติบโตของตัวอ่อน ทำให้ตัวอ่อนเจริญเติบโตไม่ดี
👉การตรวจวินิจฉัยภาวะท่อนำไข่บวมน้ำทำได้อย่างไร❓
การอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด
ในหญิงที่มีบุตรยากที่มารับการตรวจวินิจฉัย ในบางครั้งจะสามารถตรวจพบภาวะท่อนำไข่บวมน้ำได้ จากการตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด โดยจะเห็นลักษณะเป็นช่องว่างสีดำยาว แต่การเห็นลักษณะดังกล่าวจากการตรวจอัลตราซาวด์จะยังไม่สามารถวินิจฉัยภาวะนี้ได้แน่นอน ต้องมีการตรวจค้นพิเศษเพิ่มเติม นั่นคือการตรวจท่อนำไข่ด้วยวิธีการฉีดสีเอกซเรย์
การฉีดสีดูท่อนำไข่
เป็นการตรวจวินิจฉัยภาวะท่อนำไข่บวมน้ำที่แม่นยำ เนื่องจากจะสามารถเห็นลักษณะของท่อนำไข่หลังจากการฉีดสารทึบแสง จะค่อยๆพองและบวมออกเห็นเป็นลักษณะกระเปาะชัดเจน เนื่องจากสีที่ฉีดเข้าไปไม่สามารถไหลผ่านออกทางปลายท่อนำไข่เข้าสู่ช่องท้องได้ จึงเกิดการสะสมของสารทึบแสงที่ใช้ฉีดและมองเห็นได้ชัดเจนจากการเอกซเรย์
การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อวินิจฉัย
ในผู้ป่วยบางรายที่จำเป็นต้องใช้การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อหาสาเหตุของการมีบุตรยาก โดยจะทำการฉีดสี methylene blue เพื่อเป็นการทดสอบว่าท่อนำไข่ตันหรือไม่ ถ้าปรากฏว่าท่อนำไข่ตัน เราจะเห็นลักษณะของท่อนำไข่หลังจากฉีด methylene blue เป็นลักษณะท่อยาวพองบวม สีข้างในจะออกน้ำเงิน เป็นลักษณะเฉพาะของภาวะนี้
👉วิธีการรักษาท่อนำไข่บวมน้ำทำได้อย่างไร❓
การใช้ยาปฏิชีวนะ
เจาะดูดน้ำภายในท่อนำไข่ทิ้ง
การผ่าตัดเอาท่อที่บวมน้ำออก
📚จากการศึกษาวิจัยจำนวนมากพบว่า....
การตัดท่อนำไข่ที่บวมน้ำออกจะช่วยเพิ่มอัตราการฝังตัว และการตั้งครรภ์อย่างชัดเจน
ในขณะที่การให้ยาปฏิชีวนะ หรือการดูดน้ำจากท่อนำไข่ ไม่มีผลช่วยในเรื่องการตั้งครรภ์
ดังนั้นสาเหตุการมีบุตรยากจากภาวะท่อนำไข่บวมน้ำนี้ แพทย์ที่ทำการรักษาจึงมักจะแนะนำให้ผ่าตัดเพื่อเอาท่อนำไข่ที่บวมออกไปเพื่อเพิ่มโอกาสในการมีบุตร
3. ช็อกโกแล็ตซีสต์
ซีสต์ (Cyst) คือ ถุงน้ำที่เกิดขึ้นในร่างกายของคนเรา ดังนั้น ซีสต์ที่รังไข่นั้นก็คือการมีถุงน้ำเกิดขึ้นภายในรังไข่ และมีกลไกการเจริญเติบโตที่อาจส่งผลต่อร่างกายได้ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ ซีสต์ที่เป็นโรค และ ซีสต์ที่เกิดโดยธรรมชาติและสามารถหายได้เอง
✅ซีสต์ที่เกิดโรค คือถุงน้ำที่มีความผิดปกติ สามารถทำให้เกิดโรคขึ้นภายในอวัยวะที่ตรวจพบซีสต์ได้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ ซีสต์ที่เป็นโรคทั่วไป เช่น #ช็อกโกแลตซีสต์ และซีสต์ที่เป็นโรคมะเร็ง
✅ซีสต์ที่เกิดโดยธรรมชาติและสามารถหายได้เอง โดยปกติแล้วการทำงานภายในรังไข่จะมีการผลิตฟองไข่แล้วตกไปรอบละ 1 ใบ ซึ่งซีสต์ที่เกิดโดยธรรมชาติ อาจเกิดจากการที่ฟองไข่โตตามปกติแต่ไม่สามารถตกออกมาใช้งานได้ ทำให้เกิดเป็นซีสต์หรือถุงน้ำที่ค้างอยู่ภายในรังไข่ ซีสต์แบบนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะถูกกลไกของร่างกายดูดซึมแล้วหายได้เองภายใน 3 เดือน นอกจากนี้ในกรณีที่ไข่ตกตามปกติก็ยังสามารถทำให้เกิดซีสต์ได้เช่นกัน ในกรณีที่ไข่ตกตามปกติ แต่หลังจากการตกไข่กลับมีเลือดออกในฟองไข่นั้นจนกลายเป็นก้อนเลือดขังอยู่ภายใน และร่างกายก็จะดูดซึมแล้วหายไปเองเช่นกัน
การตรวจพบซีสต์ในครั้งแรกนั้นแพทย์จะยังบอกไม่ได้ว่าคนไข้เป็นซีสต์ชนิดไหน ยกเว้นมันจะมีลักษณะอาการเฉพาะของโรคนั้นๆ แสดงออกมาอย่างชัดเจนจึงจะสามารถระบุได้ โดยปกติมักจะต้องตรวจแล้วติดตามอาการก่อนสักประมาณ 2- 3 เดือน หากสังเกตอาการแล้วซีสต์ยังไม่สลายไปตามกลไกของร่างกายจึงจะนับว่าเป็นโรคแล้ว
▶️ อาการแบบไหนที่เข้าข่ายซีสต์ที่รังไข่❓
ซีสต์นับได้ว่าเป็นภัยเงียบของร่างกายผู้หญิงเลยทีเดียว เพราะโดยปกติแล้วซีสต์จะไม่มีการแสดงอาการ ไม่ว่าจะเป็นซีสต์ที่เกิดโดยธรรมชาติ
ซีสต์ที่เป็นโรค หรือแม้กระทั่งซีสต์ที่เป็นมะเร็งรังไข่ จึงทำให้คนไข้รู้ตัวได้ยาก และไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเองเมื่อไหร่ หรือป้องกันตัวเองจากโรคนี้ได้อย่างไร
แต่ในซีสต์บางชนิดก็ยังมีการแสดงอาการอยู่บ้าง เช่น... #ช็อคโกแลตซีสต์ คนไข้จะมีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง หรือปวดประจำเดือน แต่อาการปวดแบบนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของซีสต์ในรังไข่ แต่ขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดรอยโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดได้
ดังนั้นใครที่มีอาการแบบนี้เป็นประจำควรต้องมาตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุของอาการปวด หากตรวจพบว่าเป็นซีสต์จะได้วางแผนการรักษาต่อไป
โดยส่วนใหญ่แล้ว ‘ซีสต์’ มักจะตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจโรคอื่นๆ แต่อาการหนึ่งที่พบได้บ่อยคือ คนไข้มักจะมาพบแพทย์ด้วยปัญหาการมีบุตรยาก เมื่อตรวจร่ายกายแล้วจึงพบว่ามีซีสต์เป็นอุปสรรคขัดขวางอยู่
▶️ ซีสต์ที่รังไข่ส่งผลอย่างไรกับการมีบุตรยาก❓
ซีสต์ที่ทำให้เกิดปัญหาการตั้งครรภ์ มักจะเกิดจากซีสต์ที่เป็นโรค ได้แก #ช็อกโกแลตซีสต์ ซึ่งมักจะส่งผลต่อกลไกการทำงานของรังไข่และทำให้คนไข้มีลูกได้ยากขึ้น ซีสต์ชนิดนี้เมื่อเกิดขึ้นในรังไข่และยังมีขนาดเล็กอยู่จะทำให้ฟองไข่เจริญเติบโตได้ตามปกติ แต่คุณภาพของฟองไข่ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีช็อกโกแลตซีสต์นั้นจะมีสารเคมีบางอย่างที่ทำให้ฟองไข่ที่ตกในรังไข่ข้างนั้นด้อยคุณภาพลง และเจริญเติบโตได้น้อยกว่าอีกข้างที่ไม่มีซีสต์ และเมื่อซีสต์มีขนาดใหญ่ขึ้นจะทำให้การเจริญเติบโตของฟองไข่เป็นไปได้ยากขึ้น เช่น ถ้าซีสต์มีขนาด 1 ซม. จะเหลือพื้นที่ในรังไข่ให้กับไข่เยอะ ทำให้ไข่มีโอกาสที่จะโตได้ตามปกติ แต่ถ้าขนาดซีสต์ใหญ่มากถึง 5 ซม. พื้นที่ในรังไข่ก็จะเหลือน้อยลง ไข่จะเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ เพราะความดันในรังไข่สูงมาก และอาจทำให้ไข่ไม่ไปตกในข้างที่มีซีสต์เลย เมื่อไข่ไม่ตกในข้างที่มีซีสต์ก็ทำให้โอกาสในการตั้งครรภ์ลดลงตามไปด้วย
เพราะฉะนั้นแล้วไม่ว่าซีสต์จะเกิดขึ้นในรังไข่หรือนอกรังไข่ก็สามารถส่งผลกระทบกับการตั้งครรภ์ได้ทั้งสิ้น เพราะว่าระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิงเป็นกลุ่มโรคที่โยงถึงกันอยู่
▶️ การรักษาเมื่อตรวจพบช็อคโกแลตซีสต์
ทำอย่างไร❓
การรักษาโดยทั่วไปจะมี 2 วิธี คือ การใช้ยาและการผ่าตัด
✅การใช้ยา ยาทุกตัวที่ใช้ในการรักษาซีสต์ที่รังไข่นี้จะเป็นยาที่มีฤทธิ์คุมกำเนิดทั้งหมด ทำให้คนไข้ไม่สามารถมีบุตรได้ เนื่องจากโรคนี้อาศัยฮอร์โมนเพศหญิงที่สร้างจากรังไข่ในแต่ละเดือนทำให้มันโตขึ้น ดังนั้นการรักษาโรคนี้ต้องใช้ยาเพื่อยังยั้งไม่ให้ไข่เจริญเติบโต โรคจึงจะสงบลงได้ ซึ่งวิธีนี้ไม่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการมีบุตร
✅การผ่าตัด สามารถทำได้ด้วยการส่องกล้องผ่าตัดเข้าไปเพื่อลอกซีสต์ออกมา ซึ่งประโยชน์ของการส่องกล้องผ่าตัดนั้นทำให้เราสามารถตรวจโรคได้ รู้ว่าผลของการตรวจชิ้นเนื้อนี้เป็นซีสต์ธรรมดาหรือเป็นมะเร็ง และจัดการกับซีสต์ได้อย่างตรงจุด ถ้าส่องกล้องเข้าไปแล้วพบรอย
โรคอื่นๆ ก็สามารถทำลายรอยโรคเหล่านั้นได้ ทำให้มดลูก รังไข่ และอวัยวะต่างๆ ที่แวดล้อมอยู่ข้างในปลอดโรคไปได้ระยะหนึ่ง และทำให้คนไข้สามารถมีบุตรได้ตามธรรมชาติได้ง่ายขึ้น หรือหากตรวจพบว่าท่อรังไข่อุดตันก็สามารถวางแผนการรักษาหรือผ่าตัดเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการมีบุตรในอนาคตได้ ซึ่งการผ่าตัดแบบนี้จะฟื้นตัวได้ไวและมีแผลขนาดเล็ก
แต่การผ่าตัดก็มีผลข้างเคียงและความเสี่ยงจากการผ่าตัดที่คนไข้ต้องนำกลับไปพิจารณาด้วยเช่นกัน เช่น การดมยาสลบ การสอดกล้องในหน้าท้องที่มีพังผืดเยอะซึ่งเกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ อาจจะไปโดนอวัยวะต่างๆ ข้างในได้
นอกจากนั้นยังมีอีกข้อควรระวังซึ่งอาจส่งผลต่อการมีบุตร คือ เมื่อเราลอกซีสต์ออกจากรังไข่แล้วจะทำให้เนื้อที่ดีของรังไข่ที่ติดกับผนังซีสต์ออกไปด้วย เมื่อผนังรังไข่หายไปส่วนหนึ่ง จะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของรังไข่ ปริมาณฟองไข่ และการโตของไข่ก็อาจจะลดลงตามไปด้วย ถ้าซีสต์มีขนาดเล็กอาจจะลอกง่ายและไม่มีผลกับผนังรังไข่มาก แต่ถ้าซีสต์มีขนาดใหญ่มาก ต้องลอกเนื้อรังไข่ออกไปมากก็อาจจะทำให้รังไข่ผลิตไข่ได้น้อยลงหรือผลิตไม่ได้เลยก็เป็นได้
วิธีการรักษาซีสต์ที่เหมาะกับคนไข้แต่ละคนนั้นจะแตกต่างกันไปตามลักษณะของโรคและความต้องการในการรักษา ฉะนั้นใครจะเหมาะสมกับวิธีไหนนั้นจะต้องมาพบแพทย์เพื่อพูดคุยถึงข้อดีและข้อเสียของแต่ละวิธี และวางแผนการรักษาร่วมกันก่อน หากคนไข้ต้องการมีบุตรแพทย์ก็จะหาวิธีที่ช่วยให้คนไข้ปลอดโรคก่อนและวางแผนสำหรับการมีบุตรต่อไปในอนาคต
👉เดอร์มอยด์ซีสต์
โรคถุงน้ำเดอร์มอยด์ (Dermoid Cyst) มักจะไม่แสดงอาการใด ๆ เลยจนกว่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากถุงน้ำ เช่น แตก รั่ว หรือบิดขั้ว ไม่ปวดประจำเดือน ไม่มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด ดังนั้นการตรวจภายในและอัลตราซาวนด์เพื่อตรวจดูมดลูกและรังไข่จึงเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นประจำทุกปี เพราะหากถุงน้ำมีขนาดใหญ่ขึ้นจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงขั้นต้องถูกตัดรังไข่ได้
▶️ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนของโรคถุงน้ำเดอร์มอยด์ (Dermoid Cyst) ได้แก่
บิดขั้ว (Torsion) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้มากที่สุดในโรคถุงน้ำเดอร์มอยด์ (Dermoid Cyst) คนไข้จะมีอาการปวดบริเวณท้องน้อยด้านซ้ายหรือขวา กดเจ็บบริเวณท้องน้อย คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาจมีไข้ต่ำ ๆ ได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดฉุกเฉินจะทำให้รังไข่ข้างนั้น ๆ ขาดเลือดไปเลี้ยงเป็นเวลานาน ส่งผลให้รังไข่เน่า ทำให้จำเป็นต้องตัดรังไข่ข้างนั้นทิ้งในที่สุด
แตกหรือรั่ว (Rupture or Leakage) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้กับโรคถุงน้ำรังไข่ทุกชนิด รวมทั้งโรคถุงน้ำเดอร์มอยด์ (Dermoid Cyst) คนไข้จะมีอาการปวดท้องน้อยฉับพลัน และปวดตลอดเวลา ซึ่งถ้ามีเลือดออกในช่องท้องจำนวนมาก จะทำให้เกิดภาวะช็อกได้
ติดเชื้อ (Infection) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่ก็ทำให้เกิดอาการรุนแรงได้ คนไข้จะมีอาการไข้สูง ร่วมกับการปวดท้องน้อยที่รุนแรง
มะเร็ง (Cancer) ถุงน้ำรังไข่ชนิดนี้แม้ส่วนใหญ่จะไม่ใช่มะเร็ง แต่ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งได้ประมาณ 1% โดยไม่จำเป็นต้องพบในคนอายุมากเท่านั้น เป็นมะเร็งที่พบในคนอายุน้อยได้ ซึ่งวิธีการตรวจให้ทราบได้นั้น คือการผ่าตัดเท่านั้น การอัลตราซาวนด์บอกได้เพียงว่ามีถุงน้ำที่รังไข่ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่ามีเซลล์มะเร็งหรือไม่
▶️วิธีการรักษา
โรคถุงน้ำเดอร์มอยด์ (Dermoid Cyst) เป็นโรคที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น ไม่สามารถทำให้เล็กลงด้วยยาหรือฮอร์โมน ซึ่งต่างจากช็อกโกแลตซีสต์
ผ่าตัดเลาะเฉพาะถุงน้ำ (Ovarian Cystectomy) โดยจะทำในกรณีที่ยังไม่มีรังไข่เน่า จากภาวะแทรกซ้อนจากรังไข่บิดขั้ว และถุงน้ำมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ดังนั้นการตรวจพบถุงน้ำรังไข่ก่อนที่จะมีขนาดใหญ่จนเกิดภาวะแทรกซ้อนจึงเป็นการดีที่สุด เพราะการผ่าตัดในขณะที่ขนาดถุงน้ำรังไข่มีขนาดเล็กนั้นทำได้ง่ายกว่า และสูญเสียเนื้อรังไข่น้อยกว่า ส่งผลดีในกรณีที่คนไข้อายุยังน้อย และมีความต้องการมีบุตรในอนาคต
ผ่าตัดรังไข่ข้างนั้น ๆ (Unilateral Oophorectomy) จะทำในกรณีที่มีภาวะรังไข่เน่าจากการที่รังไข่บิดขั้ว ทำให้รังไข่ขาดเลือดไปเลี้ยงเป็นเวลานานจนรังไข่เน่า กรณีที่ถุงน้ำมีขนาดใหญ่มาก ๆ ไม่มีเนื้อรังไข่ส่วนที่ดีเหลืออยู่ และรังไข่อีกข้างดูปกติดี เพราะการเหลือรังไข่ 1 ข้าง เพียงพอสำหรับการผลิตฮอร์โมนเพศหญิงได้ หรือกรณีที่อายุมาก ๆ สงสัยว่าอาจมีเซลล์มะเร็ง
การผ่าตัดถุงน้ำเดอร์มอยด์แบบไม่เปิดหน้าท้อง Advanced Minimal Invasive Surgery (MIS)
การผ่าตัดถุงน้ำเดอร์มอยด์ (Dermoid Cyst) นั้นสามารถทำได้ทั้งแบบเปิดหน้าท้องและแบบไม่เปิดหน้าท้อง ซึ่งการผ่าตัดแบบไม่เปิดหน้าท้องสามารถทำได้โดยการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก โดยแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง ประกอบกับเครื่องมือที่ทันสมัยได้มาตรฐาน ช่วยให้การผ่าตัดง่ายขึ้น แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กเพียง 5 – 10 มิลลิเมตร เจ็บน้อย ฟื้นตัวได้เร็ว ลดการเกิดพังผืดในช่องท้อง ภาวะแทรกซ้อนต่ำ ลดการอักเสบติดเชื้อของแผลได้เป็นอย่างดี
4. เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (ENDOMETRIOSIS) คือ ภาวะที่เยื่อบุผนังมดลูกเจริญภายนอกมดลูก ทำให้เกิดเยื่อบุหนาที่สลายตัวกลายเป็นเลือดประจำเดือนไปเรื่อย ๆ จนร่างกายขับออกมาได้ไม่หมด ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงที่มีรอบเดือน รวมทั้งอาจส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากตามมา เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่มักเกิดขึ้นบริเวณรังไข่ ท่อนำไข่ เนื้อเยื่อที่ยึดมดลูก หรือรอบ ๆ มดลูก และมีโอกาสเกิดขึ้นบริเวณลำไส้ตรง กระเพาะปัสสาวะ ปากมดลูก หรือช่องคลอดได้เช่นกัน หรือแม้แต่ส่วนอื่นของร่างกายที่พบได้น้อย เช่น ผิวหนัง ปอด สมอง เป็นต้น
✔สาเหตุของเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
👉ภาวะประจำเดือนไหลย้อน เลือดประจำเดือนของคนเรานั้นมีเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกอยู่ หากเกิดภาวะนี้เลือดประจำเดือนจะไหลย้อนผ่านท่อนำไข่เข้าไปในอุ้งเชิงกราน ส่งผลให้เซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกเกาะอยู่ตามผนังอุ้งเชิงกรานและรอบ ๆ อวัยวะอื่นภายในอุ้งเชิงกรานจนหนาขึ้นเรื่อย ๆ และสลายเป็นเลือดออกมาทางช่องคลอดตามช่วงของรอบเดือน
👉การเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในเยื่อบุช่องท้อง ปัจจัยทางด้านฮอร์โมนอาจส่งผลให้เซลล์ในเยื่อบุช่องท้องเปลี่ยนแปลงและทำหน้าที่คล้ายเป็นเซลล์ของเยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้มีการสลายตัวออกมาเป็นเลือดประจำเดือน
👉การลำเลียงเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูก ภาวะนี้อาจเกิดจากเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกไหลไปตามหลอดเลือดหรือระบบน้ำเหลือง ส่งผลให้มีเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกเกาะตามอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ก่อให้เกิดเป็นภาวะเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ตามมา
👉แผลผ่าตัด ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดมดลูกหรือผ่าคลอดอาจเสี่ยงเกิดภาวะ Endometriosis เนื่องจากเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกอาจติดไปตามบริเวณแผลผ่าตัด
👉โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถกำจัดเยื่อบุที่เจริญภายนอกมดลูกได้ตามปกติ
✅การรักษาเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
ผู้ป่วยภาวะ Endometriosis ที่มีอาการไม่รุนแรงหรือไม่มีปัญหามีลูกยากอาจไม่ต้องเข้ารับการรักษา โดยเฉลี่ยแล้วผู้ป่วยจำนวน 3 ใน 10 ราย จะหายดีได้เอง อย่างไรก็ตาม หากอาการไม่ดีขึ้นหรือเกิดปัญหามีลูกยาก แพทย์จะเลือกใช้วิธีรักษาโดยพิจารณาจากระดับความรุนแรงของอาการและความต้องการมีลูกของผู้ป่วย มีทั้งการให้ทานยา หรือการผ่าตัด
- การใช้ยา แพทย์จะสั่งจ่ายยาแก้ปวดสำหรับบรรเทาอาการปวดรอบเดือนให้ผู้ป่วย
- การผ่าตัด ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดในกรณีที่วางแผนมีบุตร มีอาการปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง หรือรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัดแล้วไม่ได้ผล เนื่องจากวิธีนี้จะช่วยกำจัดเยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญผิดที่โดยไม่เกิดผลกระทบต่ออวัยวะสืบพันธุ์ แต่จะมีโอกาสกลับมาป่วยได้อีก
5. รังไข่เสื่อม วัยทองก่อนกำหนด
❗รังไข่เสื่อมก่อนวัย 1 ในปัญหามีบุตรยาก❗
.
ในสตรีทั่วไปภาวะรังไข่หยุดทำงานคือ ภาวะที่ไม่มีการสร้างฮอร์โมนเพศจากรังไข่ ไม่มีการตกไข่ ไม่มีประจำเดือน เป็นระยะเวลานานตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ซึ่งเรียกว่าภาวะหมดประจำเดือน หรือวัยหมดประจำเดือน (Menopause) ซึ่งโดยทั่วไปเกิดขึ้นเมื่อสตรีอายุประมาณ 50 - 51 ปี เป็นส่วนใหญ่ แต่หากรังไข่หยุดทำงานก่อนอายุ 40 ปีเรียกว่ามี “ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด” หรือ “รังไข่หยุดทำงานก่อนกำหนด” หรือ “รังไข่เสื่อมก่อนวัย” หรือ “รังไข่หยุดทำงานก่อนวัย”
ปัจจุบันภาษาอังกฤษจะเปลี่ยนไปใช้คำว่า Primary ovarian insufficiency มากกว่าคำเดิมคือ Premature ovarian failure โดยคำใหม่จะมีความหมายชัดเจนกว่าคือ “รังไข่ทำงานไม่เพียงพอ” ที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ
✔ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดนี้ รังไข่จะไม่ตอบสนองต่อการทำงานของฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองที่เป็นฮอร์โมนควบคุมให้รังไข่ทำงาน สตรีเหล่านี้จะมีอาการต่างๆเหมือนสตรีที่หมดประ จำเดือนตามปกติทั่วไปคือสตรีในวัยหมดประจำเดือน
👉อาการที่พบบ่อยของรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด ได้แก่
ประจำเดือนมาผิดปกติเป็นสิ่งบอกเหตุแรกๆคือ ประจำเดือนที่เคยมาปกติจะเริ่มห่างออกเรื่อยๆ ปริมาณประจำเดือนจะลดลงจนในที่สุดจะไม่มีประจำเดือนมาอีก
มีอาการที่เกิดจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนเช่น อาการร้อนวูบวาบตามตัว นอนไม่หลับ หงุดหงิด โมโหง่าย ช่องคลอดแห้ง เจ็บแสบช่องคลอดเวลาที่มีเพศสัมพันธ์
ควรพบแพทย์ตอนไหน
เมื่อมีประจำเดือนหมดก่อนวัยคือก่อนอายุ 40 ปีหรือมีอาการต่างๆดังกล่าวในหัวข้อ อาการ โดยเฉพาะถ้าอาการเหล่านั้นมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรพบแพทย์/สูตินรีแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ
สาเหตุของรังไข่เสื่อมก่อนวัยมีได้หลายอย่าง เช่น
⚪ มีการทำลายเซลล์รังไข่ทำให้รังไข่ไม่ทำงาน: เช่น การถูกฉายแสง/รังสีรักษาบริเวณอุ้งเชิงกรานในสตรีที่เป็นมะเร็งปากมดลูก การได้รับยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็งต่างๆ
⚪ การมีโรคที่ตัวรังไข่เองเช่น ติดเชื้ออย่างรุนแรงที่รังไข่ทั้ง 2 การเป็นเนื้องอกรังไข่ทั้ง 2 ข้าง
⚪ โรคทางพันธุกรรมที่มีความผิดปกติของโครโมโซมเพศทำให้อวัยวะบางอย่างรวมถึงรังไข่ทำงานไม่ปกติหรือมีช่วงชีวิตทำงานสั้นกว่าปกติเช่น ภาวะ Gonodal dysgenesis (รังไข่ไม่เจริญ เติบโต) หากรังไข่ไม่มีการทำงานตั้งแต่ก่อนเป็นสาว สตรีผู้นั้นก็จะไม่มีการพัฒนาเป็นผู้หญิงเต็มตัว ไม่มีการพัฒนาของเต้านม ไม่มีขนรักแร้หรือขนหัวหน่าว สตรีเหล่านี้มักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการที่ไม่เคยมีประจำเดือนมาเลย แต่หากรังไข่ไม่ทำงานหลังจากที่เคยทำงานมาระยะหนึ่งแล้ว มีการสร้างฮอร์โมนแล้ว มีการพัฒนาของเต้านม มีลักษณะภายนอกเป็นเพศหญิงเต็มที่แล้ว ผู้ป่วยก็จะมาพบแพทย์ด้วยปัญหาหมดประจำเดือนเร็วกว่าวัยที่ควร
⚪ โรคออโตอิมูนชนิดที่มีการทำลายเซลล์ของรังไข่ทั้ง 2 ข้าง
⚪ ไม่ทราบสาเหตุ
รังไข่หยุดทำงานก่อนกำหนดมีผลต่อสุขภาพอย่างไร?
เมื่อรังไข่ไม่ทำงานร่างกายก็จะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งฮอร์โมนนี้จะมีผลต่อการเจริญและความแข็งแรงกระดูก การขาดฮอร์โมนนี้จึงทำให้เกิดโรคกระดูกบางและโรคกระดูกพรุนซึ่งเสี่ยงต่อกระดูกหักง่ายขึ้น
นอกจากนั้นการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนยังเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัว ใจขาดเลือดให้สูงมากกว่าปกติซึ่งเป็นภัยเงียบที่ทำอันตรายถึงชีวิตได้
ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด?
⚪ สตรีที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดเช่น
⚪ สตรีที่ได้รับการผ่าตัดมดลูกซึ่งอาจมีผลทำให้เลือดไปเลี้ยงรังไข่ไม่ดีพอจึงทำให้รังไข่เสียการทำงานเช่นผู้ป่วยโรคเนื้องอกมดลูก
⚪ สตรีที่ได้รับยาเคมีบำบัดเช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
⚪ สตรีที่ได้รับการฉายแสง/รังสีรักษาจากที่เป็นโรคมะเร็งของอวัยวะที่อยู่ในอุ้งเชิงกราน เช่น มะเร็งปากมดลูก
⚪ มีการอักเสบหรือติดเชื้อที่รังไข่ (รังไข่อักเสบ) อย่างรุนแรง
⚪ มีประวัติในครอบครัวที่หมดประจำเดือนเร็วผิดปกติ
⚪ มีโรคทางระบบภูมิคุ้มกันโรคต่อตนเองผิดปกติ/โรคออโตอิมมูน เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี ที่ทำให้เกิดการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อที่รังไข่ 3โรคผิดปกติทางโครโมโซมเพศหญิงเช่น กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ , กลุ่มอาการฟราจาย
สังเกตตนเองได้ว่าอาจมีภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดดังนี้
1. ระยะรอบประจำเดือนจะห่างออกเรื่อยๆในช่วงอายุที่ควรจะเป็นประจำเดือนปกตี้
2. ปริมาณประจำเดือนจะลดลงเรื่อยๆในช่วงอายุที่ควรจะเป็นประจำเดือนปกตี้
3. มีอาการร้อนวูบวาบ หงุดหงิด โมโหง่าย ในช่วงอายุที่ควรจะเป็นประจำเดือนปกติี้
4. ช่องคลอดแห้ง เจ็บแสบเวลามีเพศสัมพันธ์
แพทย์วินิจฉัยภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดได้จาก
⚪ ประวัติทางการแพทย์: ประวัติอาการที่สำคัญคือ สตรีอายุน้อยมีรอบประวัติประจำเดือน ที่เริ่มห่างออกเรื่อยๆจนกระทั่งเลือดประจำเดือนไม่มาตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป อาจมีอาการร้อนวูบวาบตามตัว หงุดหงิด
⚪ การตรวจร่างกาย: หากรังไข่หยุดทำงานหลังวัยที่อวัยวะเพศต่างๆเจริญแล้วเช่น เต้านม ขนรักแร้ ขนบริเวณหัวหน่าวพัฒนาแล้ว และขาดฮอร์โมนไม่นานการตรวจร่างกายมักไม่พบความผิดปกติชัดเจน แต่หากรังไข่หยุดทำงานไปนานอาจพบเยื่อบุช่องคลอดบาง หากรังไข่หยุดทำงานตั้งแต่เต้านมยังไม่พัฒนาหรือยังไม่มีขนรักแร้ขนที่หัวหน่าว ตรวจร่างกายก็จะไม่พบการพัฒนาของเต้านม ไม่มีขนรักแร้ ไม่มีขนที่หัวหน่าว
⚪ การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: เช่น การตรวจเลือดเพื่อหาระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของรังไข่ที่เรียกว่า ฮอร์โมน FSH (Follicular stimulating hormone) จะเป็นตัวช่วยในการวินิจฉัยภาวะนี้ หากมีค่าสูงแสดงว่ารังไข่ไม่ทำงานแล้ว ตรวจระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน จะพบมีระดับต่ำ
⚪ นอกจากนั้นแพทย์อาจมีการตรวจโครโมโซมจากเลือดกรณีถ้าหมดประจำเดือนเร็วมากคือในอายุน้อยมากเช่นต่ำกว่า 35 ปี หรือตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ เป็นต้น
👉การรักษาภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดมีอย่างไรบ้าง?
1. การรักษาทั่วไป
แนะนำการออกกำลังกายที่สมควรกับสุขภาพสม่ำเสมอทุกวัน แนะนำการได้รับแคลเซียมเสริมอาหารมากขึ้นเพื่อบำรุงกระดูก อาจเป็นการกระตุ้นการดื่มนมหรือรับประทายยาเม็ดแคลเซียมอย่างสม่ำเสมอเช่น ยา Calcium carbonate
2. การรักษาเฉพาะ
ปัญหาที่ต้องระวังมากหากหมดประจำเดือนเร็วกว่าปกติคือ ภาวะเรื่องกระดูกบาง กระดูกพรุนซึ่งเป็นภัยเงียบกับสตรีที่จะทำให้เกิดกระดูกหัก ซึ่งตอนแรกจะยังไม่ค่อยมีอาการให้เป็นที่สังเกตจนเมื่อกระดูกบางมากแล้วจะมีอาการปวดกระดูก ปวดหลัง ปวดเอว กระดูกคดงอ หลังโกง คุณภาพชีวิตไม่ดี จึงจะไปพบแพทย์ซึ่งจะสายไป
นอกจากนั้นการขาดฮอร์โมนเพศเร็วทำให้เสี่ยงต่อโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เนื่อง จากจะเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง เลือดจึงไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ การรักษาจึงต้องให้ฮอร์ โมนเพศทดแทนคือฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งมีหลายรูปแบบ ทั้งแบบรับประทาน แบบครีมทาผิว หรือเป็นแผ่นฮอร์โมนแปะติดผิวหนัง และมักต้องให้ฮอร์โมนโปรเจสโตเจนร่วมไปด้วยเพื่อป้อง กันการเกิดเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวที่จะทำให้เกิดมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติและ/หรือ ป้องกันมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกที่ทั้ง 2 กรณีเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากการได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจน การได้รับฮอร์โมนเพศทดแทนนั้นพบว่า ยิ่งได้รับเร็วยิ่งดีต่อสุขภาพต่อกระดูกและต่อหัว ใจและหลอดเลือด
👉การดูแลตนเองเมื่อมีรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดคือ
1. รักษาสุขภาพร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงเช่น การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกๆวัน
3. ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพให้สม่ำเสมอทุกๆวัน
4.ควบคุมน้ำหนักตัวด้วยการควบคุมอาหารร่วมกับการออกกำลังกายเพื่อป้องกันน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน
5. เมื่อได้พบแพทย์แล้ว ควรรับประทานยาหรือใช้ยาต่างๆตามแพทย์แนะนำ
6. มีการตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอหรือบ่อยตามแพทย์แนะนำ
ป้องกันรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดอย่างไร?
ยังไม่มีวิธีป้องกันภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดได้ 100% นอกจากอาจป้องกันได้บ้างจาก
⚪ ดูแลสุขภาพร่างกายจิตใจให้แข็งแรงเช่น รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
⚪ รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ (อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่)
⚪ ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ
⚪ หลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือภยันตรายต่อรังไข่
⚪ หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและการสูบบุหรี่ (รวมถึงการสูบบุหรี่มือสอง)
👉รักษารังไข่เสื่อมก่อนกำหนดให้กลับมาปกติได้หรือไม่?
โดยทั่วไปเมื่อเกิดรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด การพยากรณ์โรคคือรังไข่จะเสื่อมถาวร กล่าว คือ ผู้ป่วยจะอยู่ในวัยหมดประจำเดือนตลอดไป แต่มีรายงานว่า บางครั้ง (หาสาเหตุไม่ได้) รังไข่สามารถกลับมาทำงานเองได้สามารถผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนแก่ร่างกายได้ และมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ประมาณ 5 - 10%
อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด ต้องการตั้งครรภ์จริงควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ เพราะอาจใช้ไข่ที่ได้รับการบริจาค (Donor oocyte) และใช้วิธีผสมกับตัวอสุจิของฝ่ายชายในหลอดทดลองทำเด็กหลอดแก้ว แล้วย้ายตัวอ่อนเข้าไปไว้ในโพรงมดลูกของผู้ป่วยที่ต้องมีการเตรียมโพรงมดลูกอย่างดี มีการให้ฮอร์โมนเพศช่วยเสริมอย่างมาก เพื่อช่วยส่งเสริมการฝังตัวของทารกในโพรงมดลูกไม่ให้เกิดการแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดตามมา
6. ปากมดลูกตีบ
ภาวะปากมดลูกตีบ (Stenosis of the uterine cervix) เป็นความผิดปกติทางระบบสืบพันธุ์ที่พบได้บ่อยๆ ในผู้หญิง โดยปกติส่วนที่เรียกว่า ปากมดลูก (uterine cervix) จะมีรูเปิดเพื่อเป็นทางผ่านของสารคัดหลั่งและเลือดประจำเดือนที่ออกมาจากโพรงมดลูก แต่หากรูเปิดนั้นตีบตัน หรือปิดสนิท ก็จะทำให้ของเหลวเหล่านั้นคั่งค้างภายในโพรงมดลูก ซึ่งในบางคนอาจไม่มีอาการผิดปกติ แต่บางคนก็อาจเกิดอาการรุนแรงได้
▶อาการของปากมดลูกตีบ
ความรุนแรงของอาการนั้นขึ้นอยู่กับว่าปากมดลูกตีบมากหรือน้อย ซึ่งอาการที่พบบ่อย ได้แก่
- ปวดท้องน้อยเรื้อรัง
- เมื่อมีประจำเดือนจะปวดท้องมาก เนื่องจากเลือดประจำเดือนไหลออกมาไม่สะดวก
- มีประจำเดือนมาน้อย เลือดออกกะปริบกะปรอย แต่หากปากมดลูกปิดสนิท ก็จะไม่มีประจำเดือนเลย
- อาจคลำพบก้อนที่ท้องน้อย เนื่องจากมีเลือดประจำเดือนคั่งค้างจนโพรงมดลูกขยาย
- อาจมีไข้หนาวสั่น เนื่องจากเกิดการอักเสบในโพรงมดลูก
🚩ภาวะปากมดลูกตีบ คือ ภาวะที่ทางผ่านของสารคัดหลั่งและประจำเดือนนั้นเกิดการตีบตัน จนทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากเพราะอสุจิไม่สามารถเข้าไปผสมกับไข่ได้ แต่อย่ากังวลไปค่ะ เพราะภาวะปากมดลูกตีบนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการทำ IUI หรือ ฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูกโดยตรง ก็จะช่วยมีโอกาสตั้งครรภ์ได้มากขึ้น
7. เนื้องอกโพรงมดลูก
เนื้องอกมดลูก (Uterine Fibroids) คือเนื้องอกที่เกิดขึ้นในตัวมดลูก อาจพบเนื้องอกในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของตัวมดลูก ขนาดอาจจะแตกต่างกันไป หรือบ้างก็พบเนื้องอกมดลูกก้อนเดียว บ้างก็พบเนื้องอกมดลูกหลายก้อน จะเป็นแบบไหนและมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดเนื้องอกในแต่ละบุคคล โดยผู้หญิงช่วงอายุ 30-45 ปี เป็นวัยที่มีความเสี่ยงเกิดเนื้องอกมดลูกได้มากกว่าช่วงอื่นๆ
▶อาการอะไร ที่บอกว่าควรไปพบแพทย์
อาการของเนื้องอกมดลูกแตกต่างไปแต่ละบุคคล บางคนก็เริ่มมีอาการตั้งแต่ก้อนเนื้อเล็กๆ แต่บางคนไม่รู้ตัวเลย กว่าจะรู้ เริ่มมีอาการ อาจจะมีก้อนเนื้อที่ค่อนข้างใหญ่แล้ว อาการที่เราสามารถสังเกตเองได้ว่ามีความเสี่ยงของเนื้องอกมดลูกหรือไม่ มีดังนี้
- ท้องผูกเรื้อรัง เนื่องจากเนื้องอกมดลูกไปกดเบียดบริเวณทวารหนัก
- ปวดท้องน้อย เป็นระยะ ปวดมากบ้างน้อยบ้าง
- มีเลือดออกผิดปกติในช่องคลอด
- เนื้องอกมดลูกมีขนาดโตและกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย
- ท้องโต แน่นท้อง ท้องบวม คล้ายคนท้อง
🚩สาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงเป็นเนื้องอกมดลูก
สาเหตุที่ทำให้เกิดเนื้องอกมดลูก ก็เหมือนกับสาเหตุที่ทำให้เกิดเนื้องอกประเภทอื่นๆ นั่นคือ ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร มีการตั้งข้อสังเกตว่าฮอร์โมนเพศหญิง ทั้งเอสโตรเจนและโพรเจสเทอโรน ที่กระตุ้นการเจริญของเยื่อบุมดลูกระหว่างการมีประจำเดือนในทุกๆ เดือน อาจส่งเสริมให้เกิดการเจริญเติบโตของเนื้องอกมดลูกขึ้นได้
✅การรับประทานอาหารบางประเภทที่เป็นการเสริมฮอร์โมนเพศหญิง เช่น น้ำมะพร้าว ลูกพรุน เมล็ดแฟลกซ์ งา ถั่วชนิดต่างๆ เต้าหู้ น้ำเต้าหู้ ข้าวสาลี ถ้าทานมากเกินไป ก็ส่งผลต่อระดับฮอร์โมนในร่างกายได้
👉ความรุนแรงของเนื้องอกโพรงมดลูก
หากไม่รีบรักษาโดยเร็วอาจส่งผลทำให้
- ท้องยาก
- แท้งง่าย
- คลอดก่อนกำหนด
- การฝังตัวของรกผิดตำแหน่ง
- ตกเลือดหลังคลอด
✅การรักษาเนื้องอกมดลูกด้วยการผ่าดัดแบบแผลเล็ก
ลักษณะของเนื้องอกมดลูกนั้นมีหลายแบบ ทั้งในส่วนขนาดของเนื้องอก และตำแหน่งของเนื้องอก มีผลต่อการวินิจฉัยเลือกวิธีรักษา หากก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่มาก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องมาก อาจเกิดอาการแทรกซ้อนได้ แพทย์จะแนะนำให้ทำการผ่าตัดเพื่อนำก้อนเนื้องอกออก
8. พังผืดที่อุ้งเชิงกราน
พังผืดที่เกิดในบริเวณอุ้งเชิงกราน (Pelvic Adhesion) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นบริเวณอวัยวะที่อยู่ในกระดูกอุ้งเชิงกราน พบมากบริเวณท่อนำไข่ ปีกมดลูก ด้านหลังมดลูก สามารถเกิดขึ้นได้จากการอักเสบ หรือเกิดการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน นอกจากนี้ ยังเกิดขึ้นได้จากการผ่าตัดที่ทำให้เกิดแผลบริเวณมดลูกและผนังหน้าท้อง ส่งผลให้ร่างกายสร้างพังผืดขึ้น หากปล่อยทิ้งไว้ยิ่งทำให้ยากต่อการรักษาและส่งผลกระทบต่ออวัยวะอื่นที่อยู่ใกล้เคียง
▶อาการเริ่มต้นของพังผืดบริเวณอุ้งเชิงกราน
อาการจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคที่เกิดขึ้นในแต่ละบุคคล เช่น
- อาการปวดรัด ปวดตื้อ ปวดจี๊ดบริเวณท้องน้อย
- ปวดท้องน้อยบ่อยจนเรื้อรัง
- ปวดประจำเดือนมากๆ
- ท้องผูก
- ปัสสาวะบ่อยหรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- ปวดหลังจนอาจร้าวไปที่ขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
🚩พังผืดในอุ้งเชิงกราน เกิดจากสาเหตุใด
พังผืดในอุ้งเชิงกรานเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้จาก 3 สาเหตุหลักๆ คือ
- การอักเสบ และติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ร่างกายของผู้หญิงถูกสร้างมาให้มีรูเปิดตามธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งรูเปิดเหล่านี้เชื้อโรคสามารถเข้าไปได้ ส่งผลให้เกิดการระคายเคืองและอักเสบได้ เมื่อเกิด- การอักเสบและระคายเคืองบ่อยๆ ก็จะทำให้เกิดพังผืดในอุ้งเชิงกรานขึ้นมานั่นเอง
- การอักเสบในอุ้งกราน ที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ส่วนมากแล้วถ้าเกิดพังผืดในอุ้งเชิงกรานขึ้นมาจากสาเหตุนี้ก็จะมาจากอาการเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นกลไกการพยายามกำจัดเลือดประจำเดือนออกจากร่างกายในทุกเดือน ซึ่งก็สามารถทำให้เกิดการอักเสบได้เหมือนกัน การอักเสบบ่อยๆ ก็ทำให้เป็นพังผืด
จากการผ่าตัดช่องท้อง เช่น การผ่าตัดคลอดบุตร การผ่าตัดคลอดจะทำให้เกิดแผลที่มดลูกและผนังหน้าท้อง เมื่อเกิดแผล ร่างกายก็จะทำการซ่อมตัวเองจึงทำให้เกิดพังผืด ยิ่งผ่ามากครั้งร่างกายก็ยิ่งสร้างพังผืดมากขึ้นตามจำนวนครั้งที่ผ่า
การมีพังผืดในอุ้งเชิงกรานจะส่งผลให้มีบุตรยาก และรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน การตรวจวินิจฉัยสามารถทำได้โดย อันดับแรกก่อนเข้ารับการรักษาคนไข้จะถูกซักประวัติโดยละเอียดจากสูติ-นรีแพทย์ รวมถึงอาการปวดท้อง อาการปวดประจำเดือน การมีบุตร ตามด้วยการเข้ารับการตรวจภายใน ต่อด้วยการตรวจอัลตราซาวนด์ เพื่อช่วยให้สูติ-นรีแพทย์เห็นภาพรอยโรคได้อย่างชัดเจนทุกรายละเอียด และการตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (หรือ MRI) หากไม่สามารถตรวจด้วยวิธีอื่น
✅การรักษาพังผืดในอุ้งเชิงกราน
การรักษาพังผืดในผู้หญิงขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงที่เกิดขึ้น มีทั้งการใช้ยาแก้ปวดกลุ่มที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบแบบไม่มีสเตียรอยด์ เพื่อลดอาการปวดประจำเดือนและปวดท้องน้อย การใช้ฮอร์โมนบำบัด ทั้งยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด เพื่อลดการมีเลือดประจำเดือนมากหรือปวดประจำเดือน ซึ่งหากรักษาด้วยยา ทั้งยากินและยาฉีดเกิน 1 ปีแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น
✅วิธีการรักษา คือ การผ่าตัดผ่านกล้องขั้นสูง (Advanced Minimally Invasive Surgery) เคสตัวอย่าง คนไข้เพศหญิงอยากมีบุตร แต่มีบุตรยากเนื่องจากปัญหาภายในเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ประกอบกับเกิดพังผืดไปติดกับลำไส้ ทำให้คนไข้มีอาการปวดท้อง และไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลากว่า 8 เดือน ก่อนหน้านั้นเคยมีแต่เจ็บมาก รับประทานยามาสักระยะ รวมถึงฉีดยาแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้นและมีอาการมานานกว่า 1 ปี แพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่าคนไข้ควรเข้ารับรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องขั้นสูง (Advanced MIS) ปรากฎผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ หลังการรักษาอาการเจ็บปวดหายไปและคนไข้สามารถตั้งครรภ์ได้เป็นปกติ
9. ผนังมดลูกบาง
“ผนังมดลูกบาง” เป็นสาเหตุของการมีลูกยาก
ทำยังไงให้มีลูกง่ายขึ้น
ปัญหาเยื่อบุโพรงมดลูกบางถือเป็นปัญหาที่สำคัญและพบได้บ่อยปัญหาหนึ่งของผู้ที่มีบุตรยาก โดยเฉพาะผู้ที่ทำเด็กหลอดแก้ว ต้องยอมรับว่ามีคนไข้จำนวนไม่น้อยที่ยังไม่สามารถย้ายตัวอ่อนได้เพราะว่าเยื่อบุโพรงมดลูกนั้นยังบางเกินไป ทำให้ตัวอ่อนมีโอกาสฝังตัวได้น้อย โอกาสสำเร็จจึงต่ำทั้งๆที่แพทย์ได้พยายามให้ยาฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญของเยื่อบุโพรงมดลูกหลายขนานแล้วก็ตาม แต่เยื่อบุโพรงมดลูกนั้นก็ยังบางอยู่
ผนังมดลูก ที่สามารถเตรียมจะตั้งครรภ์ได้ ไม่ควรหนาต่ำกว่า 8 มิลลิเมตร และถ้าเกิดบางกว่า 5 มิลลิเมตร โอกาสที่เราจะมีน้อง ก็จะยากมากๆเลยหล่ะค่ะ ความหนาของผนังมดลูกที่เหมาะสมในการฝังตัวของตัวอ่อนอยู่ที่ 8 ถึง 10 มิลลิเมตร ถ้าหนาเกินไป ก็มีปัญหาในการฝังตัวได้เช่นกัน ผนังมดลูกที่หนาเกินไปก็ใช่ว่าจะดีนะคะ โดยปกติถ้าหนาเกิน 14 มิลลิเมตร คุณหมอจะไม่ประเมินให้ย้ายตัวอ่อน (กรณีคนทำเด็กหลอดแก้ว) ในรอบนั้นค่ะ ให้รอรอบใหม่ที่เหมาะสม
👉สำหรับว่าที่คุณแม่ ที่ต้องการตั้งครรภ์ คงอยากจะรู้กันแล้วใช่มั้ยคะ ว่าผนังมดลูกบางนั้น เกิดจากอะไรบ้าง สาเหตุมันมีได้หลายปัจจัยนะคะ เช่น
1. เคยได้รับการขูดมดลูกมาก่อน เช่น เคยแท้งลูกมาก่อน
2. มีเลือดขึ้นไปเลี้ยงมดลูกน้อยมาก ซึ่งอาจเป็นผลทางอ้อมมาจากการที่มีเนื้องอกในมดลูกนั่นเอง เป็นตัวขัดขวางการไหลเวียนของเส้นเลือดที่จะนำเอาฮอร์โมนมาหล่อเลี้ยงที่เยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญหนาตัวได้ไม่ดีพอ
3. ฮอร์โมนเอสโตรเจนผิดปกติ ซึ่งอาจมาจากภาวะรังไข่เสื่อมหรือหยุดการทำงาน ทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวได้
4. การทานยากระตุ้นรังไข่ (Ovinum) ปริมาณมากและติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินหกเดือน อาจมีผลทำให้ผนังมดลูกบางได้เช่นกันในคนไข้บางราย
5. มดลูกเคยติดเชื้อ
6.ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดโปรเจสเตอโรนเดี่ยว เช่น ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด และยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดโปรเจสเตอโรนเดี่ยว มาเป็นเวลานาน
7. โภชนาการที่ไม่สมบูรณ์
8. ไม่ทราบสาเหตุ หรือ #บางสาเหตุแก้ไขไม่ได้ เช่น พังผืดในโพรงมดลูกรุนแรงมาก หรือหลังจากผ่าตัดแก้ไขแล้วมดลูกเสียสภาพไปมาก ไม่อยู่ในสภาพพร้อมที่จะตั้งครรภ์ได้
👉คุณแม่ที่อยากมีน้องและกำลังประสบปัญหานี้อยู่ อย่าเพิ่งท้อนะคะ เพราะมีวิธีการรักษา เช่น การผ่าตัดเพื่อแก้ไขเยื่อบุโพรงมดลูกบางสามารถทำได้ค่ะ การผ่าตัดสามารถช่วยให้ผนังมดลูกมีความหนาขึ้นได้ แต่โอกาสอาจจะไม่ถึง 100% หรือการใช้ยาช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงมดลูก หรือ แนะนำให้ใช้อุ้มบุญ หากโรคมีความรุนแรงทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้ เนื่องจากมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
อย่างไรก็ตาม ควรเข้ารับการรักษาและปรึกษากับแพทย์เพื่อหาแนวทางแก้ไขโดยตรง
10. อายุมาก ไข่ด้อยคุณภาพ
คำกล่าวที่ว่า #อายุเป็นแค่เพียงตัวเลข" อาจจะใช้ไม่ได้กับการตั้งครรภ์ ซะทีเดียว เพราะหลักการทางการแพทย์พิสูจน์แล้วว่า #อายุคือปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของการมีบุตรยากเลยล่ะค่ะ กล่าวคือ "อายุยิ่งมาก อัตราการตั้งครรภ์ก็ยิ่งลดลง" (Age is one of the most significant factors that can impact your ability to have a baby)
เหตุผลก็เป็นเพราะในทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับร่างกายของผู้หญิงนั้น เมื่ออายุยิ่งมากขึ้น จำนวนเซลล์ไข่ก็จะลดลง จนลดลงต่ำสุดเมื่อเข้าสู่ภาวะวัยทอง เป็นเรื่องธรรมชาติที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ค่ะ ยิ่งไปกว่านั้นควบคู่ไปกับจำนวนที่น้อยลงคุณภาพของเซลล์ไข่ที่มีอยู่ก็จะถดถอย ด้อยคุณภาพลงไปเรื่อยๆ ด้วย และอาจมีความผิดปกติของโครโมโซมของเซลล์ไข่เมื่อผู้หญิงอายุมากขึ้นอีกด้วยค่ะ
วันนี้ครูก้อยจะพาไปดูสถิติของโอกาสในการตั้งครรภ์ของแต่ละช่วงอายุกันค่ะ เพื่อแม่ๆ จะได้เตรียมตัวบำรุงกันอย่างจริงจังซะที เพราะน้องไข่ของเราเสื่อมต่อไม่รอแล้วล่ะค่ะ
👉 #อัตราการตั้งท้อง (ในแต่ละเดือน) จากช่วงอายุ
🔹️อายุ 20 ปี จะมีอัตราการตั้งท้อง 25%
🔹️อายุ 30 ปี จะมีอัตราการตั้งท้อง 20%
🔹️อายุ 35 ปี จะมีอัตราการตั้งท้อง 15%
🔹️อายุ 40 ปี จะมีอัตราการตั้งท้อง 5%
👉จากสถิติข้างต้นนั่นก็เป็นเพราะยิ่งอายุมาก คุณภาพของไข่ (Egg Quality) ก็ลดลงด้วย โดยเมื่อพูดถึงคุณภาพของไข่ ในทางการแพทย์จะมีการเชื่อมโยงถึง "ความปกติทางโครโมโซมของไข่" โดยไข่ที่โครโมโซมปกติ เรียกว่า "euploid" ส่วนไข่ที่มีโครโมโซมปกติเรียกว่า "aneuploid"
👉โดยไข่ที่มีโครโมโซมปกติ (Chromosomally normal egg) จะมีโครโมโซม 23 แท่ง เมื่อมีการปฏิสนธิจากอสุจิของฝ่ายชายที่มีโครโมโซมปกติอีก 23 แท่ง ตัวอ่อนที่สมบูรณ์ก็จะมีโครโมโซมรวม 46 แท่ง
👉 #ความสัมพันธ์ของอายุกับคุณภาพของไข่ก็คือ...
เมื่ออายุมากขึ้น โอกาสที่จะมีไข่ที่มีโครโมโซมผิดปกติ (aneuploid) เพิ่มขึ้น ไข่ที่มีโครโมโซมผิดปกติคือมีจำนวนโครโมโซมมาก หรือ น้อยกว่า 23 แท่ง หากเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นจากไข่ที่มีโครโมโซมผิดปกติอาจจะส่งผลให้..
🔸️ตัวอ่อนไม่ฝังตัว (embryo fails to implant in the uterus)
🔸️แท้งในระยะเริ่มแรก (miscarriage)
🔸️ทารกเป็นดาวน์ซินโดรม
👉 #สถิติความปกติของโครโซมของเซลล์ไข่ในแต่ละช่วงอายุ
🔹️อายุ 25 โครโมโซมปกติ 75%
🔹️อายุ 35 โครโมโซมปกติ 50%
🔹️อายุ 40 โครโมโซมปกติ 10-15%
💗เป็นไงคะแม่ๆ ได้รู้รายละเอียดกันชัดเจนแล้ว อายุคงไม่ใช่แค่เพียงตัวเลขแล้วแน่ๆ หากพร้อมที่จะมีบุตรแล้วก็ไม่ต้องรอให้อายุมากนะคะ จูงมือกันไปหาคุณหมอ ตรวจสุขภาพให้เรียบร้อย ทานอาหารบำรุงร่างกาย เจ้าตัวน้อยก็จะมาในเร็ววันค่ะ
💗แต่สำหรับคนที่อายุเยอะแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าหมดโอกาสนะคะ เพราะตราบใดที่เรายังมีไข่ เราก็มีโอกาสท้องค่ะ ถึงจะโอกาสน้อยลงแต่การบำรุงไข่ด้วยการทานอาหารที่มีโภชนาการสูง การดูแลร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ให้แม่ๆได้ค่ะ🤰
Comments