top of page
ค้นหา

📣 12 ลุ้น! ของคนทำเด็กหลอดแก้ว


📣 12 ลุ้น! ของคนทำเด็กหลอดแก้ว ปัจจุบันหลายๆครอบครัวประสบปัญหามีบุตรยาก ซึ่งการทำเด็กหลอดแก้ว นับว่าเป็นอีกทางออกที่ช่วยเพิ่มโอกาสการมีบุตรได้ . เด็กหลอดแก้วเป็นการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์โดยมีการกระตุ้นไข่ นำไข่ที่ดีและตัวอสุจิที่แข็งแรงมาช่วยทำการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย ในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดเป็นตัวอ่อนจากนั้นเลี้ยงตัวอ่อนจนถึงระยะ Day 3-5 (day 5 เรียกว่าระยะบลาสโตซีสต์) แล้วทำการเตรียมผนังมดลูกให้พร้อมเพื่อย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูก และเกิดการฝังตัวที่สมบูรณ์ต่อไป . ซึ่งในแต่ละขั้นนั้นถือว่าลุ้นมากเลยค่ะ เรามาดูกันว่า "12 ลุ้น! ของคนทำเด็กหลอดแก้ว" นั้นมีอะไรบ้าง? . อ่านข้อมูลเพิ่มเติม ใต้รูปแต่ละรูปเลยค่ะ ครูก้อยเขียนเอาไว้ให้อย่างละเอียดค่ะ 1. ลุ้นจำนวนไข่สุก เมื่อเข้ากระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว พอรอบเดือนมา 1-3 วันหมอจะให้ยามาฉีดกระตุ้นไข่ที่บริเวณหน้าท้องเป็นเวลา 8 ถึง 12 วัน โดสยาขึ้นกับการตอบสนองของฮอร์โมนของแต่ละคน ไข่จะเริ่มเจริญเติบโตไปเรื่อยๆ จนถึง day 14 ของรอบเดือน(นับวันที่มีประจำเดือนมาวันแรกเป็น day1) ไข่ที่สมบูรณ์จะโตตามเกณฑ์ประมาณ 20 มิลลิเมตรหมอจะอัลตราซาวด์ดูจำนวนไข่ที่ขึ้นเติบโตตามเกณฑ์ ได้ขนาด แล้วประเมินจำนวนไข่คร่าวๆ ให้ทราบว่ามีกี่ใบ ก่อนที่จะนัดเก็บไข่ ถึงวันนัดเก็บไข่ ฝ่ายหญิงจะต้องดมยาสลบแล้วหมอจะดูดไข่ออกมาใส่ในจานเพาะเชื้อจากนั้นจะแจ้งจำนวนไข่สุก ว่าได้กี่ใบ ซึ่งไข่ที่พร้อมในการทำอิ๊กซี่(พร้อมที่จะนำสเปิร์มมาเจาะ) นั้นจะต้องเป็นไข่สุกเท่านั้น ดังนั้นการบำรุงไข่ก่อนไปทำเด็กหลอดแก้วจึงสำคัญมาก เพราะมันเป็นตัวบอกความสวย สมบูรณ์และจำนวนของไข่ที่ใช้งานได้ 2. ลุ้นปฏิสนธิ อัตราการปฏิสนธิที่ดีต้องเกิน 75% ของไข่สุกพี่เก็บมาได้ ยกตัวอย่างเช่น เก็บไข่สุกมาได้ 10 ใบจะต้องปฎิสนธิเป็นตัวอ่อนได้ประมาณ 7-8 ตัว 3. ลุ้นบลาสต์ ตัวอ่อนที่ปฏิสนธิในวันแรก Day 1 จะต้องมีชีวิตอยู่รอด แตกเซลล์ทวีคูณ เติบโตทุกวันตามเกณฑ์ (Day 1 👉Day2👉Day3👉👉Day5 ) ไปจนถึงระยะบลาสโตซิสต์ (Day 5) ในอัตรา 50% ของตัวอ่อน Day 3 เช่น ตัวอ่อนที่ปฏิสนธิใน Day 1 ได้ 10 ตัว เหลือเป็น Day 3 จำนวน 8 ตัว จะต้องถึงระยะบลาสโตซีส 50% จาก Day3 คือ ถึงบลาสต์อย่างน้อย 4 ตัว 4. ลุ้นผลตรวจโครโมโซม/ ลุ้นเพศ สำหรับผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป จะมีข้อบ่งชี้ให้สามารถส่งตรวจโครโมโซมตัวอ่อนก่อนทำการใส่กลับเข้าไปสู่ที่โพรงมดลูกได้ ซึ่งหมอจะคัดและจะส่งตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์ที่ดูสวย แข็งแรง ไปตรวจโครโมโซม ใช้เวลา 7-10 วันก็จะทราบว่าตัวอ่อนตัวนั้นมีโครโมโซมภายในปกติหรือไม่ ผลพลอยได้ที่ทำให้ทราบอีกอย่างหนึ่ง คือเพศของตัวอ่อนนั่นเอง ค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับแต่ละคลีนิค ครูก้อยทำที่ GFC ส่งตรวจ 4 ตัวอ่อน จ่ายเพิ่มจากโปรแกรมทำ ICSI อีก 75,000 ค่ะ (2 ตัวแรก 45,000 ตัวถัดไป ตัวละ 15,000) 5. ลุ้นผนังมดลูก เมื่อได้ตัวอ่อนที่สมบูรณ์แล้วผ่านการคัดโครโมโซมเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนของการเตรียมผนังมดลูก โดยจะต้องรอให้มีประจำเดือนมา หลังจากนั้นคุณหมอจะให้ยามากินหรือสอด ซึ่งเป็นยาประเภทฮอร์โมนเอสโตรเจน เพื่อช่วยทำให้ผนังมดลูกมีสภาพที่พร้อมในการฝังตัว ระหว่างนั้นเราก็จะทานอาหารที่ทำให้มดลูกอุ่นและทำให้มดลูกหนาฟูโดยเน้นการทานอาหารประเภทโปรตีนสูง และอาหารที่ทำให้เลือดไหลเวียนดี มีฤทธิ์อุ่น ผนังมดลูกพี่พร้อมในการฝังตัว จะต้องเป็นไปตามเกณฑ์ 4 ข้อนี้ค่ะ

  1. มีความหนา 8 ถึง 10 มิลลิเมตร

  2. เรียงสามชั้นสวย เรียงแนวเดียวกัน ผิวเรียบ เห็นเส้นกลางชัด

  3. ใสเป็นวุ้น ไม่ขุ่น ไม่หนาทึบ

  4. มดลูกอุ่น มีเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงเพียงพอ และไม่มีสารพิษตกค้าง

6. ลุ้นละลายตัวอ่อน เมื่อถึงวันนัดย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก นักวิทยาศาสตร์จะทำการละลายตัวอ่อนที่แช่แข็งเอาไว้ โอกาสที่ตัวอ่อนหลังละลายจะไปต่อ ไม่ฝ่อ ไม่ตาย ขึ้นอยู่กับคุณภาพของตัวอ่อน และประสิทธิภาพของห้อง lab 7. ลุ้นติด ไม่ติด หลังใส่ตัวอ่อน หมอจะทำการนัดเจาะเลือดเพื่อเช็ค ฮอร์โมน beta -Hcg ว่าตั้งครรภ์หรือไม่? หลังใส่ตัวอ่อนระยะบลาสต์ 9 -10 วัน แต่ส่วนใหญ่ แม่ๆ ก็จะอดใจไม่ไหว มักจะแอบเทสก่อน ด้วยแผ่นตรวจตั้งครรภ์ ประมาณ 7-8 วันหลังใส่ ก็เห็นสองขีดจางๆแล้วค่ะ (ถ้าติด) 8. ลุ้นหลุด ไม่หลุด ถ้าเกิน 14 วันหลังใส่ตัวอ่อน ถ้าไม่ติด ปจด. ก็จะมาค่ะ หรืออาจมาช้ากว่าปกตินะคะเพราะฤทธิ์ของฮอร์โมนที่ใช้สอดช่งคลอดค่ะ (โปรเจสเตอร์โรน) สำหรับบางคนติดแล้ว ตรวจเจอ 2 ขีดแล้ว แต่ต้วอ่อนฝ่อ ไม่ไปต่อ ไม่เกินอายุครรภ์ 3 เดือน ก็หลุดค่ะ เป็นการแท้งครบตามธรรมชาติ สาเหตุส่วนใหญ่เพราะโครโมโซมตัวอ่อนผิดปกติ หรือตัวอ่อนด้อยคุณภาพ หรือมาจากผนังมดลูกบาง ไม่พร้อมในการฝังตัว 9. ลุ้นถุงตั้งครรภ์ หลังจากเจาะเลือดเช็คว่าท้องเรียบร้อยแล้ว หมอจะทำการนัดเพื่ออัลตร้าซาวด์ถุงตั้งครรภ์เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 5-6 สัปดาห์ เมื่อเจอถุงตั้งครรภ์ก็เป็นสัญญาณดี แต่ก็ยังคงลุ้นต่อว่า ภายในถุงตั้งครรภ์นั้นมีตัวอ่อนอยู่หรือเปล่าถ้ามีแต่ถุงตั้งครรภ์ แต่ไม่มีตัวอ่อน นั่นหมายความว่า “ท้องลม” ซึ่งคือการแท้งชนิดหนึ่งตามธรรมชาติ เป็นเพราะโครโมโซมในตัวอ่อนผิดปกติ 10. ลุ้นเสียงหัวใจ เมื่ออัลตร้าซาวด์เจอถุงตั้งครรภ์และถุงไข่แดงเรียบร้อยแล้ว ต้องเช็คเสียงหัวใจของทารก ซึ่งมักจะได้ยินชัดเจนประมาณ 6-7 สัปดาห์ 11. ลุ้นผลตรวจ NIPT เมื่อตั้งครรภ์ได้ประมาณ 11 ถึง 14 สัปดาห์ก็จะทำการตรวจคัดกรองความผิดปกติทางโครโมโซมและโรคทางพันธุกรรม Noninvasive prenatal testing (NIPT) ซึ่งเป็นการเจาะเลือดตรวจเช็คโครโมโซมของทารกทุกคู่ ว่ามีความผิดปกติไหม เป็นการคัดกรองดาวน์ซินโดรมด้วย และจะทราบเพศด้วยค่ะ กรณีคนที่คัดโครโมโซมตัวอ่อนก่อนใส่กลับเข้าสู่โพรงมดลูก อาจจะตรวจ NIPT หลังตั้งครรภ์อีกครั้งหนึ่งเพื่อเช็คชัวร์ ให้เกิดความสบายใจก็สามารถทำได้ค่ะ หรือจะไม่ตรวจแล้วก็ได้เนื่องจากเราได้ผ่านการคัดโครโมโซมตัวอ่อนมาแล้ว ค่าใช้จ่ายอยู่ราว 15,000-18,000 บาท ค่ะ 12. ลุ้นอวัยวะ หลังจากรู้ว่าท้องแล้ว เจอถุงตั้งครรภ์แล้วเจอหัวใจเด็กเต้นเรียบร้อยแล้ว จากนั้นคุณหมอจะทำการนัดอัลตร้าซาวด์ผ่านทางช่องคลอดทุกๆ2 สัปดาห์ในไตรมาสแรก เพื่อเช็คความผิดปกติของทารกค่ะ

ดู 513 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


ครูก้อย.jpg

คุยกับครูก้อย/ทีมงาน

ครูก้อยเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เบบี้แอนด์มัม (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นเจ้าของเพจ BabyAndMom.co.th (เพจให้ความรู้สำหรับผู้มีบุตรยาก) ครูก้อยยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่านใดที่ต้องการคุยกัน สามารถทัก LINE@ เข้ามาได้เลยนะคะ โดยจะมีครูก้อยและทีมงานคอยให้การต้อนรับค่ะ

bottom of page