สำหรับสาว ๆ ที่อยากมีลูกแต่ก็ยังไม่พร้อมด้วยเหตุผลใดก็ตาม อย่าลืมนะคะว่าอายุเราเพิ่มขึ้นทุกวัน ร่างกายก็เสื่อมถอยไปตามเวลา ดังนั้นการฝากไข่หรือฝากตัวอ่อนตั้งแต่ช่วงอายุไม่มาก จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้สาว ๆ มีลูกได้ง่ายขึ้น วันนี้ครูก้อยจะพามาดูกันว่าระหว่างการฝากไข่กับการฝากตัวอ่อนแตกต่างกันอย่างไร แบบไหนเหมาะกับเรามากกว่ากัน
การฝากไข่คืออะไร
เป็นการนำเซลล์ไข่ในร่างกายผู้หญิงออกมาแช่แข็งไว้เพื่อหยุดอายุเซลล์สืบพันธุ์และนำไปใช้ในอนาคตโดยไข่ที่แช่แข็งสามารถนำมาละลายและนำไปปฏิสนธิกับอสุจิในกระบวนการ IVF หรือ ICSI ซึ่งการฝากไข่จะช่วยป้องกันไข่ไม่ให้เสื่อมสภาพตามอายุ เนื่องจากเซลล์ไข่จะเสื่อมลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น อันเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาการมีลูกยาก
หลักเกณฑ์ในการฝากไข่
ผู้ฝากไข่ต้องลงนามในหนังสือแสดงความยินยอมในการฝากให้เก็บรักษา
ต้องมีการตรวจผู้ฝากไข่เพื่อป้องกันการถ่ายทอดโรคติดต่อ ได้แก่ HIV หรือ ตับอักเสบ เป็นต้น
การเก็บแช่แข็งไข่ของตนเองเพื่อวัตถุประสงค์ในการนำไปปฏิสนธิกับอสุจิของสามีที่ชอบด้วยกฎหมายในอนาคต
การเก็บแช่แข็งไข่ของตนเองก่อนการรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือการรักษาอื่นที่อาจเป็นอันตรายต่อรังไข่
กำหนดระยะเวลาเก็บไข่ไว้ไม่ต่ำกว่า 5 ปี เว้นแต่มีข้อตกลงเป็นหนังสือไว้อย่างอื่น
การฝากไข่เหมาะกับใครบ้าง
1. ผู้ที่กำลังรักษาโรคมะเร็ง
การรักษาโรคมะเร็งอาจส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ไม่ว่าจะเป็นการรับเคมีบำบัดซึ่งอาจทำให้ไม่มีการตกไข่และไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ในบางรายอาจจำเป็นต้องตัดรังไข่ออก ดังนั้นการนำไข่มาฝากไว้ก่อน จึงเป็นทางเลือกที่ดีในการวางแผนมีบุตรหลังจากรักษาโรคมะเร็งจนหายดีแล้ว
2. ผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติประจำเดือนหมดเร็ว
โดยปกติผู้หญิงจะตกไข่ได้ประมาณ 400-500 ใบ ตลอดช่วงชีวิต ซึ่งจะหมดไปในระหว่างช่วงอายุ 47-50 ปี แต่หากคนในครอบครัวหมดประจำเดือนไวกว่าปกติก็มีสิทธิ์ที่คุณจะหมดประจำเดือนไวด้วยเช่นกัน ระยะเวลาที่สามารถตั้งครรภ์ได้จึงสั้นกว่าคนอื่น ๆ หากต้องการมีบุตรควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฝากไข่
3. ผู้ที่ยังไม่พร้อมมีบุตรในตอนนี้แต่อยากมีบุตรในอนาคต
เนื่องจากผู้หญิงหลายคนกำลังวางแผนที่จะเรียนต่อต่างประเทศ หรือกำลังให้ความสำคัญกับสิ่งอื่น จนไม่พร้อมมีบุตร แต่หากอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ที่ไข่แข็งแรงสมบูรณ์ ก็สามารถนำฝากไข่เพื่อเก็บไว้ผสมหลังจากที่คุณพร้อมแล้ว แต่เมื่อพร้อมต้องมีใบทะเบียนสมรสพร้อมสามีมาแสดงตัว ส่วนสาวโสดที่อยากมีลูกและต้องการขอรับบริจาคสเปิร์ม ตามกฎหมายไม่สามารถทำได้นะคะ
4. ผู้มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์และการมีบุตรในอนาคต
เช่น ผู้มีแนวโน้มที่จะมีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) หรือมีช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate cyst) ควรพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการฝากไข่
ควรฝากไข่เมื่อไหร่ดี
ครูก้อยแนะนำให้ฝากไข่ตั้งแต่อยู่ในช่วงอายุ 20-35 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยเจริญพันธุ์ที่มีไข่แข็งแรงสมบูรณ์ภายใน แต่หากมาฝากไข่หลังจากอายุ 35 ปีขึ้นไป ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าโอกาสตั้งครรภ์สำเร็จเมื่อนำไข่ออกมาใช้จะน้อยลง ฉะนั้นการฝากไข่จึงเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนในระยะยาว แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การฝากไข่เพื่อตั้งครรภ์ในภายหลังไม่ใช่วิธีที่ได้ผล 100% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความแข็งแรงของสเปิร์ม, ความแข็งแรงของผู้ฝากไข่ และอายุของทั้ง 2 ฝ่ายด้วยค่ะ
การฝากตัวอ่อนคืออะไร
เป็นการฝากตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิเรียบร้อยได้เป็นตัวอ่อนแล้ว โดยคนที่จะฝากตัวอ่อนได้ต้องเป็นคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้วเท่านั้น โดยคุณหมอจะเก็บไข่และอสุจิเพื่อนำมาผสมเป็นตัวอ่อน แต่ยังไม่ใส่กลับไปในโพรงมดลูกตามความประสงค์ของฝ่ายหญิง
หลักเกณฑ์ในการฝากอ่อน
มีการลงนามในหนังสือแสดงความยินยอมทั้งสามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย
มีการตรวจประเมินสุขภาพของผู้ฝากเพื่อป้องกันการถ่ายทอดโรคติดต่อ ได้แก่ HIV, ตับอักเสบ, ซิฟิลิส เป็นต้น
มีระบบข้อมูลในการเก็บรักษาตัวอ่อน ให้สามารถตรวจสอบติดตามการนําไปใช้ ข้อมูลดังกล่าวต้องเก็บรักษาไว้ไม่น้อยกว่า 20 ปี
มีระบบการเก็บรักษาที่แยกกันชัดเจนในกรณีที่มีการติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ
เงื่อนไขการรับฝากตัวอ่อน
เป็นการเก็บแช่แข็งตัวอ่อนของตนเองเพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาภาวะมีบุตรยาก
เป็นการเก็บแช่แข็งตัวอ่อนของตนเองก่อนการรักษาด้วยเคมีบําบัด หรือการรักษาอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อรังไข่
กําหนดระยะเวลาการเก็บรักษาตัวอ่อนคือไม่ต่ำกว่า 5 ปี เว้นแต่มีข้อตกลงเป็นอย่างอื่นไว้เป็นหนังสือ
สรุปความแตกต่างระหว่างการฝากไข่และการฝากตัวอ่อน
การฝากไข่ หรือการฝากตัวอ่อนควรทำตอนผู้หญิงอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ อายุไม่เกิน 35 ปี
สาวโสดสามารถฝากไข่ได้ เพียงแต่จะนำไข่มาใช้ได้ก็เมื่อมีใบทะเบียนสมรสมาแสดง
การฝากตัวอ่อนต้องเป็นคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้วเท่านั้น
ความคงทนของไข่ที่ผ่านการแช่แข็งจะน้อยกว่าตัวอ่อน เมื่อถึงเวลาละลายไข่ที่แช่แข็งออกมาปฏิสนธิอาจได้ปริมาณไข่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับการแช่แข็งแบบตัวอ่อน
การแช่แข็งเป็นตัวอ่อนจะดีกว่าแช่แข็งเป็นไข่สำหรับคนที่มีคู่ เพราะตัวอ่อนมีโอกาสรอดสูงกว่าไข่และค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาน้อยกว่า เมื่อพร้อมก็สามารถย้ายตัวอ่อนที่เก็บไว้มาใช้ได้ทันที
สุดท้ายนี้ไม่ว่าจะเป็นการฝากไข่ หรือการฝากตัวอ่อนก็ตาม จุดเริ่มต้นที่ดีคือแม่ ๆ จะต้องให้ความสำคัญกับการบำรุงเซลล์ไข่ให้สมบูรณ์ก่อนการเก็บไข่ ส่วนคนที่มีคู่แล้วก็ต้องบำรุงสเปิร์มคุณสามีด้วยการทานอาหารถูกหลักโภชนาการ, ออกกำลังกายสม่ำเสมอ, พักผ่อนให้เพียงพอ เมื่อเราบำรุงร่างกายดีแล้วก็จะได้ไข่ หรือตัวอ่อนที่มีคุณภาพ หากพร้อมมีลูกเมื่อไหร่ก็ตั้งครรภ์ได้เลยค่า
Comments