ยังมีคุณแม่อีกหลายคนที่ยังไม่รู้มาก่อนว่าหนึ่งในสิ่งที่ช่วยเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ให้มากขึ้น นั่นก็คือผนังมดลูก หากผนังมดลูกไม่แข็งแรงพอให้ตัวอ่อนฝังตัวก็จะทำให้การตั้งครรภ์ไม่เกิดขึ้น ว่าแต่มีวิธีดูแลตัวเองเพื่อเตรียมผนังมดลูกให้หนาขึ้นบ้าง มาอ่านไปด้วยกันเลยค่ะ
ทำความรู้จักกับฮอร์โมนที่มีผลต่อการตั้งครรภ์กันก่อนค่ะ
ฮอร์โมนนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อคุณแม่เตรียมท้องทุกคนนะคะ นอกจากฮอร์โมนจะมีผลต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของร่างกายแล้ว ยังมีผลต่อการตั้งครรภ์โดยตรงด้วยนะคะ หากฮอร์โมนบางชนิดมีปริมาณน้อยหรือมากเกินไป ก็อาจทำให้รอบเดือนไม่ปกติ ไข่ไม่ตก หรืออาจตกแบบไม่สม่ำเสมอ โอกาสตั้งครรภ์ก็น้อยลงตามมา นอกจากนี้ยังมีผลต่อสุขภาพโดยรวม ทำให้อารมณ์สวิงบ่อย ผิวแห้งแตก กระดูกเปราง่าย ดูแก่กว่าวัย และอื่น ๆ อีกมาก สำหรับฮอร์โมนที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ของสาว ๆ มีดังนี้
ฮอร์โมน LH (Luteinizing Hormone) เป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาในช่วงตกไข่ของรอบเดือนนั้น ๆ เพื่อกระตุ้นให้รังไข่ปล่อยไข่ออกมารอการปฏิสนธิ
ฮอร์โมน FSH (Follicular stimulating hormone) เป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของไข่ ส่งผลต่อการมีประจำเดือนและการตั้งครรภ์เป็นไปตามธรรมชาติ
ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เป็นฮอร์โมนที่ควบคุมการตกไข่และการมีประจำเดือน รวมถึงเสริมพัฒนาการของสรีระของสาว ๆ ช่วยให้ผิวเนียนนุ่ม ช่วยขยายหน้าอก เสริมทรวดทรง และเพิ่มอารมณ์ความรู้สึกอ่อนไหว อ่อนหวาน
ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เป็นฮอร์โมนที่ผลิตเซลล์ไข่ การตกไข่ การสร้างตกขาว การสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกสำหรับฝังตัวอ่อน และควบคุมการมีประจำเดือนให้เป็นไปตามปกติ
เตรียมผนังมดลูกให้หนา พร้อมต่อการตั้งครรภ์ ด้วยวิธีง่าย ๆ ต่อไปนี้
1. เลือกทานอาหารบำรุงร่างกาย
สำหรับสารอาหารที่เหมาะต่อการเตรียมผนังมดลูกมีมากมาย แต่ที่ครูก้อยจะแนะนำนั้นเป็นสารอาหารที่ครูก้อยคัดมาแล้วว่าสามารถช่วยเพิ่มความแข็งแรงของผนัังมดลูกได้จริง ๆ ได้แก่
โปรตีน เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างและซ่อมแซมเซลล์ต่าง ๆ ภายในร่างกาย อีกทั้งช่วยบำรุงเซลล์ไข่ให้สมบูรณ์และช่วยสร้างผนังมดลูกให้แข็งแรงมากขึ้น พร้อมรับการฝังตัวอ่อนได้เป็นอย่างดีค่ะ แต่ทั้งนี้ควรเน้นทานโปรตีนจากพืชนะคะ เพราะจากงานวิจัยของ Harvad School of Public Health พบว่าผู้หญิงที่กินโปรตีนจากพืชมีโอกาสเกิดภาวะมีบุตรยากได้ยากกว่าผู้หญิงกินโปรตีนจากสัตว์มากถึง 39%
ไขมันดี เป็นไขมันคอเลสเตอรอลชนิดหนึ่งที่ดีต่อร่างกาย เพราะช่วยปรับสมดุลไขมันในร่างกายด้วยการรวบรวมไขมันชนิดไม่ดี LDL (Low-Density Lipoprotein) ที่เกาะอยู่ตามเลือดทั่วร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคกับหัวใจและหลอดเลือด โดยไขมันดีจะขนส่งไขมัน LDL ไปหาตับเพื่อให้ตับกำจัดออกจากร่างกาย การทานอาหารไขมันดีเป็นประจำจะช่วยควบคุมน้ำหนักของร่างกายไม่ให้เกินเกณฑ์มาตรฐานและป้องกันการหลั่งฮอร์โมนแอนโดรเจนที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุของการมีบุตรยาก สำหรับอาหารที่มีไขมันดีที่ครูก้อยแนะนำจะเป็นน้ำมันดอกทานตะวัน (Sunflower oil), น้ำมันกระเทียม (Garlic oil), น้ำมันเมล็ดแฟลกซ์ (Flaxseed oil), น้ำมันฟักข้าว (Gac oil), น้ำมันอะโวคาโด (Avocado oil), น้ำมันงาขี้ม้อน (Perilla oil), น้ำมันมะกอก (Olive Oil), น้ำมันสาหร่าย (Algae Oil) และน้ำมันงา (Sesame oil) อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม: คลิก
ผักใบเขียว อุดมไปด้วยกรดโฟลิก (Folic) ที่ช่วยสร้างและแบ่งเซลล์ในตัวอ่อนสมบูรณ์หลังการปฏิสนธิใน 28 วัน นอกจากนี้ยังช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวในไขกระดูกของลูกน้อยในครรภ์ ลดโอกาสเกิดความผิดปกติของระบบประสาท อีกทั้งซ่อมแซมพันธุกรรมและควบคุมการสร้างกรดอะมิโนจำเป็นในการแบ่งเซลล์อีกด้วย สำหรับผักใบเขียวที่ครูก้อยแนะนำ ได้แก่ ผักโขม, ผักคะน้า, บรอกโคลี และแครอทค่ะ
อาหารทะเล อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โปรตีน และกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนเพศหญิงด้วยการกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงยังอวัยวะสืบพันธุ์ได้ดีและกระตุ้นการผลิตไข่ให้มากขึ้น ทั้งนี้แนะนำให้ทั้งอาหารทะเลปรุงสุกทุกครั้งเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจทำให้ร่างกายอ่อนแอจนไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ และควรหลีกเลี่ยงปลาและหอยบางประเภทที่มีสารปรอทสูงอย่างปลาอินทรี, ปลาแซลมอน, ปลาฉนาก (ปลาดาบ)
ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามิน C สูง ช่วยต่อต้านสารอนุมูลอิสระและปกป้องเซลล์สืบพันธุ์ไม่ให้ได้รับความเสียหายจากสิ่งต่าง ๆ ส่งผลให้คุณภาพไข่แข็งแรง นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นอารมณ์ทางเพศและนำมาสู่การมีเพศสัมพันธ์ที่ดีในกรณีที่คุณแม่เตรียมท้องไม่ค่อยอยากมีเพศสัมพันธ์เท่าไหร่นัก
คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เป็นคาร์โบไฮเดรตที่ช่วยปรับสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือด และป้องกันน้ำตาลเข้าไปรบกวนการทำงานของระบบสืบพันธุ์ สำหรับคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่ครูก้อยขอแนะนำ ได้แก่ ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต ธัญพืช
2. เลือกดื่มเครื่องดื่มสำหรับเตรียมท้อง
นอกจากอาหารแล้ว การดื่มเครื่องดื่มบางชนิดก็สามารถเพิ่มความแข็งแรงให้แก่ปนังมดลูกได้เช่นกันค่ะ สำหรับเครื่องดื่มที่ครูก้อยขอแนะนำมีอีก 2 ชนิด ได้แก่
ชาดอกคำฝอย มีฤทธิ์ช่วยขับลิ่มเลือดของประจำเดือนเก่าที่คั่งค้างอยู่ในมดลูกให้ออกมา เปรียบเสมือนการล้างมดลูกให้สะอาด ส่งผลให้ประจำเดือนรอบถัดไปไหลออกมาดีขึ้น มีสีแดงสะอาด อีกทั้งช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนสตรีทำให้เลือดไหลเวียนดี ประจำเดือนมาปกติอีกด้วยนะคะ
ขิงดำ มีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนดี สามารถนำสารอาหารไปเลี้ยงมดลูกได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ขิงดำยังมีฤทธิ์อุ่น ช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกายและช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย นอนหลับลึกยิ่งขึ้น อีกทั้งลดการหลั่งฮอร์โมนความเครียดอย่างฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่คอยขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อนอีกด้วยค่ะ
3. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
แม้ว่าจะดูเป็นเรื่องง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้วการนอนอาจเป็นเรื่องยากสำหรับคุณแม่เตรียมท้องหลาย ๆ คน เนื่องจากเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ ทีวี หรือแม้แต่สมาร์ทโฟนที่เราทุกคนล้วนพกเอาไว้ติดมือ ล้วนแล้วแต่มีแสงบลูไลท์ที่คอยกระตุ้นการทำงานของสมอง ทำให้สมองทำงานต่อเนื่องแม้จะเลยช่วงเวลาที่ควรนอนไปนานแล้วก็ตาม ดังนั้นหากคุณแม่เตรียมท้องทั้งหลายมีอาการนอนไม่หลับ ครูก้อยแนะนำให้ลองปรับพฤติกรรมการนอนกันก่อนโดยเริ่มจากปิดสมาร์ทโฟนทุกครั้งก่อนนอนอย่างน้อย 30 นาที, ปรับห้องนอนไม่ให้มีแสงสว่างเล็ดลอดออกมาจากข้างนอก, ใช้เตียงนอนก็ต่อเมื่อถึงเวลาเข้านอนเท่านั้น ไม่ควรนั่งกินข้าวหรือดูซีรีส์บนเตียงนอน เพื่อให้ร่างกายจดจำเตียงนอนว่าใช้สำหรับนอนเท่านั้น รวมถึงหางานอดิเรกทำเพื่อไม่ให้รู้สึกเครียด ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายและง่วงง่ายยิ่งขึ้นค่ะ
4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายจะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพของระบบต่าง ๆ ในร่างกายและช่วยรักษาความสมดุลของฮอร์โมนอีกด้วยนะคะ เพราะถ้าหากเราปล่อยปละละเลยในการดูแลตัวเองจนมีน้ำหนักมากหรือน้อยเกินเกณฑ์มาตรฐาน ก็จะทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนทำงานผิดปกติจนมีผลทำให้ผนังมดลูกไม่แข็งแรงและมีลูกยากในที่สุดค่ะ
5. จัดการความเครียดให้อยู่หมัด
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เครียดง่ายแต่หายยาก ครูก้อยขอแนะนำให้ลองปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการความเครียดกันสักหน่อย หลายคนอาจปล่อยให้ตัวเัองได้คิดไปเรื่อย ๆ แต่ผลที่ได้กลับมากลับทำให้เครียดมากกว่าเดิม ดังนั้นหากคุณรู้สึกตัวว่ากำลังเครียดอยู่ แนะนำให้หางานอดิเรกเบา ๆ ลองทำดู เช่น อ่านหนังสือ วาดรูป ฟังเพลงบำบัด ถักนีตติ้ง ฯลฯ เพราะถ้าหากปล่อยให้ตัวเองเครียดนาน ๆ เข้า ร่างกายก็จะหลั่งสารฮอร์โมนคอร์ติซอลที่มีผลทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายรวนและทำให้ฮอร์โมนเพศผิดเพี้ยน ส่งผลให้โอกาสตั้งครรภ์สำเร็จน้อยลงด้วยค่ะ
Comments