ปล่อยในกี่วันถึงท้อง? เป็นคำถามที่ว่าที่คุณพ่อและคุณแม่ต่างสงสัย ว่าการจะมีทายาทได้นั้น นอกจากเรื่องเพศสัมพันธ์ที่ควรรู้แล้ว การตรวจการตั้งครรภ์ก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นเดียวกัน เพราะหากคุณพ่อและคุณแม่ไม่มีความเข้าใจมากพอจนปล่อยให้อายุครรภ์มากขึ้นและสายเกินไปสำหรับการบำรุงครรภ์ ปัญหาดังกล่าวก็อาจส่งผลต่อพัฒนาการของลูกน้อยได้ค่ะ ดังนั้น จากคำถามข้างต้น ในบทความนี้ครูก้อยจึงมีคำตอบมาฝากให้ว่าที่คุณพ่อและคุณแม่ทุก ๆ คู่ได้หายสงสัยกันค่ะ
ปล่อยในกี่วันถึงท้อง หลังมีเพศสัมพันธ์กี่วันจึงสามารถตรวจได้?
ในแต่ละเดือนผู้หญิงจะมีการตกไข่ ที่ปล่อยไข่ไปยังท่อนำไข่เพื่อรอการปฏิสนธิกับอสุจิ โดยไข่นั้นอาจมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 12-24 ชั่วโมง ซึ่งหากในระหว่างนั้นมีการปล่อยในเกิดขึ้น ก็จะเกิดการปฏิสนธิและท้องได้ นอกจากนี้ ตัวอสุจิมักจะมีชีวิตอยู่ได้นานประมาณ 5 วัน ดังนั้น หากอยากมีบุตรจึงควรนับวันตกไข่และควรมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 5 วันก่อนตกไข่ แต่หากไม่พร้อมที่จะมีบุตร ก็ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้ หรือควรใช้วิธีการคุมกำเนิดชนิดอื่น
หากเกิดการปฏิสนธิขึ้นตัวอ่อนจะฝังตัวในโพรงมดลูกภายใน 6-10 วันหลังจากปฏิสนธิ และพัฒนาเป็นทารกตามลำดับซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้อาจทำให้ผู้หญิงท้องหลังจากผู้ชายปล่อยในภายใน 7-10 วัน และอาจรู้ผลชัดเจนประมาณ 14 วัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระยะเวลาการปฏิสนธิของแต่ละบุคคลอาจไม่เท่ากัน หากมีความกังวลใจควรตรวจครรภ์ด้วยตัวเองหรือเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจครรภ์เพื่อให้ทราบผลแน่ชัด
ตรวจตั้งครรภ์ทำอย่างไร เช็กวิธีตรวจครรภ์เรียงลำดับตามความแม่นยำ
การตรวจครรภ์ สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
1. ตรวจโดยแพทย์/ ตรวจในห้องปฏิบัติการ
เจาะเลือดตรวจครรภ์ (Blood Test)
การตรวจเลือดตั้งครรภ์ หรือการตรวจเลือดเพื่อหาการตั้งครรภ์ เป็นอีกหนึ่งวิธีการตรวจครรภ์ที่ให้ผลลัพธ์แม่นยำสูง เพราะผลการตรวจเลือดไม่เพียงแค่จะบอกว่าคุณแม่กำลังตั้งท้องหรือไม่ แต่ยังสามารถตรวจพบระดับฮอร์โมน hCG หรือฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ซึ่งสามารถตรวจได้ 2 วิธี คือ
การตรวจเลือดเพื่อหาปริมาณ hCG (Quantitative blood test) เพื่อดูว่ามีปริมาณ hCG เท่าไหร่ อายุครรภ์กี่สัปดาห์แล้ว และมีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ใดบ้าง ซึ่งการตรวจเลือดแบบนี้อาจจะต้องรอผลตรวจตั้งแต่ 1-3 วัน เพราะเป็นการตรวจในห้องปฏิบัติการ
การตรวจเลือดเพื่อวัดคุณภาพของ hCG (Qualitative blood test) เพื่อดูว่ามีการตั้งครรภ์หรือไม่ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่ามีปริมาณ hCG เท่าไหร่ หรือตั้งครรภ์ได้กี่สัปดาห์แล้ว หรือมีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์อย่างไรบ้าง
ตรวจปัสสาวะคนท้อง "Urine Pregnancy Test" หรือ ยูพีที (UPT)
การตรวจปัสสาวะสามารถทำได้เองทั้งที่บ้าน และสถานพยาบาล ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย สามารถทำได้เองที่บ้าน โดยการปัสสาวะผ่านแท่งตรวจ ซึ่งแท่งตรวจก็จะมีทั้งแท่งตรวจแบบหยด และแท่งตรวจแบบจุ่ม
สำหรับแท่งตรวจแบบจุ่ม ก็จะต้องปัสสาวะใส่ในถ้วยตวงปัสสาวะ และนำแท่งตรวจจุ่มลงไปในปัสสาวะ ทิ้งไว้สักพักเพื่อรอผล
สำหรับแท่งตรวจแบบหยด ผู้ตรวจจำเป็นจะต้องปัสสาวะผ่านแท่งตรวจให้พอชุ่ม แล้ววางทิ้งไว้เพื่อรอผลตรวจ
การตรวจการตั้งครรภ์ด้วยอัลตราซาวด์
การตรวจการตั้งครรภ์ ด้วยวิธีนี้ จะเป็นการตรวจด้วยการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในช่องท้องและสร้างภาพขึ้นมา ทำการตรวจโดยแพทย์ทั่วไปหรือสูตินรีแพทย์
ซึ่งนอกจากจะช่วยตรวจดูว่ามีการตั้งครรภ์หรือไม่ ยังสามารถบอกตำแหน่งการตั้งครรภ์ บอกว่าตั้งครรภ์แฝดหรือไม่ มีการท้องนอกมดลูกหรือไม่ มดลูกมีก้อนเนื้องอกมดลูก ถุงน้ำ หรือซีสต์รังไข่หรือไม่
นอกจากนี้ หลังอายุครรภ์ 4 เดือนไปแล้ว การตรวจอัลตราซาวด์ยังสามารถตรวจเพศของลูก และคัดกรองความพิการหรือภาวะผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เช่น รกเกาะต่ำ ภาวะน้ำคร่ำมากหรือน้อยเกินไป ความพิการแต่กำเนิดของทารก เป็นต้น
2.ตรวจด้วยตนเอง
ตรวจตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง แบบที่คุณสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง โดยการซื้อที่ตรวจครรภ์ หรือชุดทดสอบการตั้งครรภ์จากปัสสาวะที่จำหน่ายอยู่ในร้านค้าทั่วไปหรือร้านขายยา
ซึ่งวิธีนี้จะเป็นวิธีทดสอบหาฮอร์โมน hCG (Human Chorionic Gonadotropin) ที่ออกมากับปัสสาวะ โดยเป็นฮอร์โมนที่ถูกสร้างจากรกและบ่งบอกถึงการตั้งครรภ์ โดยสามารถตรวจพบฮอร์โมน hCG ได้ในปัสสาวะ หลังจากปฏิสนธิไปแล้ว 1-2 สัปดาห์ และจะขึ้นสูงสุดในช่วง 9-12 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ ซึ่งความแม่นยำของการตรวจวิธีนี้จะมีมากถึง 90%
โดยอุปกรณ์ทดสอบการตั้งครรภ์นี้แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ
ที่ตรวจครรภ์แบบจุ่ม
อุปกรณ์ชุดนี้จะมีราคาถูก ประกอบไปด้วยแผ่นทดสอบการตั้งครรภ์ และถ้วยตวง (บางยี่ห้อไม่มี) วิธีการใช้คือเก็บปัสสาวะลงในถ้วยตวง แล้วนำแผ่นทดสอบจุ่มลงในถ้วยตวงประมาณ 3 วินาที แล้วนำออกมาจากถ้วยตวง ทิ้งไว้ประมาณ 5 นาทีเพื่อรออ่านผลตรวจครรภ์ ข้อควรระวัง คือ อย่าให้น้ำปัสสาวะเลย หรือสูงเกินกว่าขีดลูกศรของแผ่นทดสอบ
ที่ตรวจครรภ์แบบหยด
หรือแบบปัสสาวะผ่าน มีเพียงแท่งตรวจครรภ์ที่ใช้ในการทดสอบเท่านั้น วิธีการใช้คือ ถอดฝาครอบออกแล้วถือแท่งให้หัวลูกศรชี้ลงพื้น แล้วปัสสาวะผ่านบริเวณที่ต่ำกว่าลูกศรให้ชุ่มประมาณ 30 วินาที จากนั้นรออ่านผลประมาณ 3-5 นาที
ที่ตรวจครรภ์แบบปากกาหรือแบบตลับ
ชุดอุปกรณ์จะประกอบไปด้วยหลอดหยด ตลับตรวจครรภ์ และถ้วยตวงปัสสาวะ ขั้นตอนการใช้ คือ เก็บปัสสาวะลงในถ้วยตวง จากนั้นนำหลอดหยดดูดน้ำปัสสาวะแล้วหยดลงในตลับตรวจครรภ์ประมาณ 3-4 หยด วางตลับทิ้งไว้ประมาณ 5 นาทีแล้วจึงอ่านผลการตรวจ
ที่ตรวจครรภ์ดิจิตอล
ประกอบไปด้วยอุปกรณ์เพียงชิ้นเดียว คือแท่งสำหรับตรวจครรภ์ที่เป็นแบบดิจิตอล มีลักษณะคล้ายกับที่ตรวจครรภ์แบบปากกา และวิธีใช้ก็คล้ายกันด้วย คือเพียงแค่ถอดฝาครอบแท่งตรวจครรภ์ออก แล้วถือให้ลูกศรหัวทิ่มลงพื้น จากนั้นปัสสาวะผ่านให้โดนบริเวณที่อยู่ต่ำกว่าลูกศร โดยปัสสาวะผ่านประมาณ 5-30 วินาที เพื่อให้ที่ตรวจครรภ์มีความชุ่มเพียงพอ จากนั้นวางพักไว้ในแนวราบ และรออีกประมาณ 5 นาที เพื่ออ่านผลลัพธ์การตั้งครรภ์
ตรวจตั้งครรภ์เร็วสุดกี่วัน
หลายคนก็อาจจะสงสัยว่า หลังจากที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว อีกกี่วันถึงจะรู้ว่าท้อง? และกระบวนการที่จะสามารถบอกได้ว่าท้องหรือไม่ท้องนั้นก็คือการตรวจครรภ์นั่นเอง ซึ่งก็สามารถเลือกได้ว่าจะตรวจด้วยตนเอง หรือเข้ารับการตรวจโดยตรงกับแพทย์
ส่วนระยะเวลาในการตรวจนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าคำนวณวันตกไข่ไว้ได้อย่างแม่นยำหรือไม่ เพราะถ้าหากคำนวณวันตกไข่เอาไว้แล้ว หลังจากวันที่มีเพศสัมพันธ์ไปอีก 12-14 วัน ถือว่าเป็นระยะเวลาที่เร็วที่สุดที่จะสามารถตรวจพบการตั้งครรภ์ได้ เพราะเป็นระยะเวลาที่มีการปฏิสนธิของไข่กับอสุจิเสร็จสมบูรณ์พอดี ก็จะให้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด
แต่ไม่ควรตรวจครรภ์เร็วเกินไป เพราะการตรวจครรภ์หลังมีเพศสัมพันธ์ผ่านไปแค่ไม่กี่วัน ไม่ได้เป็นตัว การันตีผลตรวจครรภ์ว่าจะมีความแม่นยำสูง แต่กลับเสี่ยงที่จะเกิดการคลาดเคลื่อนเพราะการปฏิสนธิอาจจะยังไม่สมบูรณ์ดี ทางที่ดีควรรออย่างน้อย 12-14 วันหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ในวันตกไข่จะได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงความจริงที่สุด
ตรวจครรภ์ได้ตอนไหน ตรวจเมื่อไหร่ถึงชัวร์ที่สุด
โดยปกติแล้วคงไม่มีใครที่จู่ ๆ ก็นึกอยากจะตรวจครรภ์ขึ้นมาเสียดื้อ ๆ เพราะคนที่ต้องการจะตรวจครรภ์นั้น ก็มักจะต้องมีเหตุปัจจัยบางประการที่รู้สึกว่าตัวเองอาจจะกำลังตั้งครรภ์โดยที่ไม่ทันรู้ตัว หรือสังเกต ว่าประจำเดือนมาช้ากว่าปกติ มีอาการคนท้อง หรือเริ่มมีอาการแพ้ท้อง
ดังนั้น หากจะถามว่า ควรตรวจครรภ์ตอนไหน ก็คงจะต้องขึ้นอยู่กับว่า อยู่ระหว่างการพยายามตั้งครรภ์หรือไม่ ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือเปล่า หรือมีอาการแพ้ท้องเบื้องต้นไหม หากมีอาการบ่งชี้อย่างใดอย่างหนึ่ง และสงสัยว่าตัวเองกำลังตั้งท้องหรือไม่ ก็สามารถที่จะตรวจครรภ์ได้ทันที
แต่หากจะถามว่า แล้วตรวจครรภ์ตอนไหนชัวร์สุด ตรวจครรภ์ควรตรวจตอนไหนถึงจะได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงที่สุด ก็ควรจะต้องรอจนกว่าจะถึงวันที่ประจำเดือนขาดไป จึงเริ่มทำการตรวจครรภ์ได้
แต่ในกรณีที่ต้องการตรวจเร็วที่สุด ส่วนนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า คุณแม่ได้คำนวณวันตกไข่ไว้ก่อนหน้านั้นหรือไม่ หรือจำครั้งสุดท้ายที่มีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่ หากมีข้อมูลในส่วนนี้ ก็ให้นับไป 12-14 วันหลังมีเพศสัมพันธ์ในวันที่คาดว่าจะมีการตกไข่แล้ว ซึ่งช่วงระยะเวลาดังกล่าวถือว่าเป็นระยะเวลาเร็วที่สุดที่จะสามารถตรวจพบการตั้งครรภ์ได้
แต่ถ้าหากตรวจครรภ์ก่อนวันที่ 12-14 ถือว่าตรวจครรภ์เร็วเกินไป ก็อาจจะได้ผลลัพธ์ที่ไม่แม่นยำ เพราะการปฏิสนธิยังไม่สมบูรณ์ ระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ยังไม่คงที่ ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้อาจจะไม่ตรง กับความจริงที่กำลังตั้งครรภ์อยู่
ปฏิสนธิกี่วันถึงจะรู้ว่าท้อง? เราควรเริ่มนับความเป็นไปได้ในการตั้งครรภ์จากวันที่มีเพศสัมพันธ์ไหม?
แม้ส่วนมากแล้วมักจะมีการแนะนำให้ตรวจครรภ์หลังการมีเพศสัมพันธ์ล่าสุด แต่อย่าลืมว่าไม่ใช่การมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้งจะนำไปสู่การตั้งครรภ์ การมีเพศสัมพันธ์ที่จะนำไปสู่การตั้งครรภ์ จะต้องเป็นจังหวะที่ร่างกายของผู้หญิงมีการตกไข่ จึงจะมีโอกาสที่จะเกิดการตั้งครรภ์ได้
แล้วแบบนี้หลังปฏิสนธิกี่วันถึงจะรู้ว่าท้อง?
ส่วนมากแล้ว หากสามารถคาดคะเนวันที่จะมีการตกไข่ได้ ก็ให้นับจากวันที่มีเพศสัมพันธ์ในวันไข่ตก ไป 12-14 วันหลังปฏิสนธิ ก็จะสามารถทราบได้ว่ากำลังตั้งท้องหรือไม่
ท้องกี่สัปดาห์ตรวจเจอ ตรวจครรภ์ต้องรอ 14 วัน จริงหรือ? ตัวเลขนี้มาจากไหน?
การตรวจครรภ์อย่างเร็วที่สุดที่สามารถตรวจพบได้คือ 12-14 วัน เพราะหลังจากที่มีการตกไข่ ประจำเดือนของผู้หญิงจะมาอีกใน 14 วันถัดมา หากมีประจำเดือนมาหลังจาก 14 วันผ่านไปแล้ว ก็แปลว่า ไม่ได้มีการตั้งครรภ์
แต่ถ้าครบ 14 วันหลังการมีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุดที่มีการตกไข่แล้วประจำเดือนยังไม่มา ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ใช้ได้ผลกับคนที่ประจำเดือนมาปกติเท่านั้น ในกรณีที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาจจะต้องมาคำนวณหาครั้งล่าสุดที่มีประจำเดือน และคำนวณวันที่คาดว่าจะมีไข่ตก แล้วนำข้อมูล มาประกอบกันเพื่อคำนวณดูว่าหลังจากนั้นประจำเดือนจะมาในช่วงไหนด้วยนั่นเองค่ะ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ที่ครูก้อยนำมาฝากในวันนี้ หวังว่าข้อมูลต่าง ๆ ที่กล่าวมาจะเป็นประโยชน์แก่คุณพ่อคุณแม่ทุก ๆ คู่นะคะ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญนอกจากการศึกษาวิธีการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติเพื่อให้มีเจ้าตัวน้อยแล้ว หากคุณพ่อคุณแม่คู่ใดที่รู้ตัวว่าอาจไม่มีความเข้าใจในเรื่องของการตรวจการตั้งครรภ์มากพอ ครูก้อยแนะนำให้เข้าพบคุณหมอจะดีที่สุดนะคะ เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และเจ้าตัวน้อยด้วยค่ะ
Comments