top of page
ค้นหา

ช่วง ฉีดยากระตุ้นไข่ ทำไมเวียนหัว หายใจไม่ออก?



ฉีดยากระตุ้นไข่ แม่ๆที่เข้ารับการรักษาผู้มีบุตรยากเมื่อถึงขั้นตอนการฉีดยากระตุ้นไข่ บางคนอาจพบอาการท้องอืด บวมน้ำ เวียนหัว หรือหายใจไม่ออก อาการเหล่านี้เป็นอาการของ "ภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป" ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ สาเหตุเกิดจากอะไร มีการรักษาอย่างไร ครูก้อยจะพาไปหาคำตอบค่ะ


ฉีดยากระตุ้นไข่ มีผลข้างเคียงอย่างไร ต้องดูแลตนเองยังไงบ้าง?


ภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกิน (ovarian hyperstimulation syndrome: OHSS) เป็นภาวะที่มีการรั่วซึมของสารน้ำออกจากกระแสเลือดเข้าสู่ส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น ช่องท้อง ช่องปอด เนื้อเยื่อของแขนขา เป็นต้น สาเหตุเกิดจากการกระตุ้นไข่ในขบวนการทำเด็กหลอดแก้ว หรือ บางครั้งเกิดจากการกระตุ้นไข่ในการฉีดเชื้อผสมเทียมก็ได้

เนื่องจากการให้ยาเพื่อกระตุ้นรังไข่ จะทำให้มีสารเคมีบางตัวออกมาทำให้มีรูรั่วของเส้นเลือด น้ำในกระแสเลือดจึงไหลออกข้างนอก อาการทั่วไปก็จะมี ท้องอืด บวม อึดอัด ปัสสาวะเข้มขึ้น ตรวจพบมีน้ำในช่องท้อง


เราจัดความรุนแรงของภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกิน เป็น 3 ระดับ คือ


  • ระดับน้อย – จะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด อึดอัดแน่นท้อง รังไข่ขนาดน้อยกว่า 8 เซนติเมตร

  • ระดับปานกลาง – ท้องอืดมากขึ้น อาจจะมีคลื่นไส้ อาเจียน ตรวจพบน้ำในช่องท้อง

  • ระดับรุนแรง – ท้องอืดมากชัดเจน รอบเอวใหญ่ขึ้น น้ำหนักเพิ่มขึ้น ปัสสาวะลดลง ความเข้มข้นเลือดเพิ่มขึ้น วัดขนาดรังไข่มากกว่า 12 เซนติเมตร ระดับนี้ต้องได้รับการรักษาอย่างใกล้ชิด หรือต้องนอนโรงพยาบาล


ปัจจัยเสี่ยงของภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกิน


บุคคลที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไปมีดังนี้


1. อายุน้อย

2. ลักษณะของรังไข่เป็น PCOS (ภาวะที่มีฟองไข่จำนวนมากในรังไข่)

3. ผอม น้ำหนักตัวน้อย

4. ปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจน ขณะกระตุ้นไข่มากเกิน 3500

5. มีจำนวนฟองไข่มาก

6. ถ้ามีการตั้งครรภ์ ขณะที่โรคยังดำเนินอยู่ จะยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้โรครุนแรงมากขึ้น


การป้องกันภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกิน


เฝ้าระวังจากอาการของผู้ป่วย หรือจากการตรวจด้วยอัลตราซาวด์ ในขณะที่ทำการกระตุ้นไข่ ถ้ามีอาการท้องอืด อึดอัดแน่นท้องมาก บวม หรือตรวจระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนขึ้นสูงมาก แพทย์ที่ทำการรักษาก็จะให้การดูแลดังนี้


1. เปลี่ยนยาที่ใช้ในการกระตุ้นให้ไข่ตก เลี่ยงการใช้ HCG (Human chorionic gonadotropin)

2. ลดขนาดของ HCG หรือใช้ GnRH agonist แทน ในการกระตุ้นให้ไข่ตก

3. งดฉีดยากระตุ้นไข่ และเลื่อนการเก็บไข่ไป จนกว่าท้องจะหายอืด หรืออาการลดลง

4. เก็บไข่และผสมกับอสุจิเป็นตัวอ่อน แล้วทำการแช่แข็งตัวอ่อนไว้ก่อน ยังไม่ใส่ตัวอ่อนในรอบนั้น เพราะถ้าผู้ป่วยตั้งครรภ์ อาการของโรคจะมากขึ้นกว่าเดิม


อาการของภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกิน


1. มีน้ำในช่องท้อง (ASCITES) เนื่องจากมีน้ำรั่วซึมออกจากเส้นเลือด เข้าไปใน

ช่องท้อง ทำให้ท้องอืดขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกอึดอัด แน่นท้อง หายใจลำบาก ทานอาหารน้อยลง

2. น้ำท่วมในช่องเยื่อหุ้มปอด เกิดจากน้ำเลือดซึมออกนอกเส้นเลือดเข้าไปในช่องว่างระหว่างเยื่อหุ้มปอด ผู้ป่วยจะหายใจลำบาก

3. ภาวะไตวาย เป็นเพราะเลือดที่จะไปเลี้ยงไตน้อยลง ทำให้ปัสสาวะลดลง การทำงานของไตแย่ลง ถ้าขาดเลือดมาก ไตไม่ทำงานก็จะเกิดภาวะไตวายได้

4. ภาวะที่มีเลือดข้น ทำให้มีการเกิดก้อนเลือดไปอุดตันตามเส้นเลือดต่างๆของร่างกาย โดยเฉพาะถ้าเกิดที่อวัยวะสำคัญก็จะเป็นอันตรายมาก เช่น สมอง ไต

5. ปัสสาวะออกน้อย สีปัสสาวะเข้ม


การรักษาภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป


1. การให้ยาแก้ปวด ให้ใช้พาราเซตตามอล ไม่ควรใช้ยากลุ่ม NSAID

2. รักษาสมดุลย์ของปริมาณน้ำในร่างกาย โดยดูจากปริมาณปัสสาวะที่ออกต่อวัน น้ำหนักตัว ระดับความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง ความยาวของเส้นรอบเอว ปริมาณน้ำเข้าน้ำออกของร่างกาย

3. การให้สารน้ำ ทดแทนปริมาณน้ำเลือดที่ขาดแคลน เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงที่ไต และอวัยวะที่สำคัญ หรือให้สารเช่น HUMAN ALBUNMIN สารอัลบูมินเป็นโปรตีนที่มีความเข้มข้น จะช่วยดูดน้ำจากส่วนต่างๆของร่างกายกลับเข้าสู่เส้นเลือด

4. ภาวะน้ำในช่องท้อง วิธีการรักษาอย่างหนึ่งคือการเจาะดูดน้ำออก เป็นการช่วยลดอาการที่ผู้ป่วยอึดอัดและหายใจลำบาก โดยอาจจะดูดทางหน้าท้อง หรือดูดออกทางช่องคลอด ไม่ควรใช้ยาขับปัสสาวะ

5. การผ่าตัด ในรายที่มีอาการของรังไข่บิดขั้ว หรือรังไข่แตก จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉิน


ผลข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจเกิดจากการฉีดยากระตุ้นไข่


หลังจากฉีดยากระตุ้นไข่รอบแรกไปแล้ว เทนมีผลข้างเคียงเล็กน้อยตามนี้ค่ะ ซึ่งไม่ได้ทุกคนที่จะมีอาการแบบนี้นะคะ


  • คลื่นไส้เล็กน้อยหลังฉีดฮอร์โมน แต่สามารถทำงานต่อได้ไม่มีปัญหาเลย

  • มีมูกใสออกทางช่องคลอดตลอดวัน เหมือนกับตอนที่เราไข่ตกระหว่างมีประจำเดือน แต่เยอะกว่าปกตินิดหน่อย คุณหมอบอกว่าปกติ แต่ถ้ามูกเริ่มมีสีหรือกลิ่นให้บอกคุณหมอด่วน เพราะอาจมีการติดเชื้อค่ะ

  • บวมน้ำ ท้องป่อง ใส่กางเกงเริ่มคับ แนะนำให้ใส่เดรสปล่อยๆ ชีวิตจะดีขึ้นมาก


แนวทางการดูแลตนเองหลังฉีดกระตุ้นไข่


การรักษาการมีบุตรยากด้วยวิธีทำเด็กหลอดแก้ว คุณหมอมักใช้วิธีการฉีดยากระตุ้นไข่ เพื่อให้ได้จำนวนไข่ที่มากขึ้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากอัครบุตรรวบรวมข้อมูลการปฎิบัติตัวในช่วงนี้มาฝากกันค่ะ

  1. ฉีดยากระตุ้นรังไข่ให้ตรงเวลา เพื่อให้ระดับยาในกระเลือดคงที่ รังไข่จะได้ตอบสนองต่อยาได้เต็มประสิทธิภาพ

  2. หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการฉีดยา หรือพบอาการผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ อย่าคิดเอง เออเองนะคะ เพราะยามีผลต่อการเจริญเติบโตของไข่ และเป็นเรื่องสำคัญมาก

  3. สามารถรับประทานโฟลิคหรืออาหารเสริมอื่นๆ ระหว่างการกระตุ้นไข่ได้ เพื่อบำรุงร่างกาย และให้คุณภาพของไข่ดีขึ้น

  4. เลือกทานอาหารจำพวกโปรตีน เช่น ไข่ขาว เต้าหู้ นมสด นมถั่วเหลือง ปลา เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ของร่างกายและไข่

  5. ทานอาหารที่สุกและย่อยง่าย เพื่อช่วยลดอาการท้องอืด ท้องผูก แน่นท้อง ระหว่างการฉีดยากระตุ้นรังไข่

  6. หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง

  7. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง

  8. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหักโหม และงดมีเพศสัมพันธ์ช่วงใกล้วันเก็บไข่

  9. พักผ่อนให้เต็มที่ และหากิจกรรมที่ผ่อนคลายทำเพื่อลดความเครียด


อย่างไรก็ดี อาการข้างเคียงดีังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งหลังการฉีดกระตุ้นไข่เท่านั้นค่ะ เหล่าแม่ๆ ต้องคอยเฝ้าสังเกตตนเองให้ดีเนื่องจากการฉีดกระตุ้นไข่อาจนำมาซึ่งอาการแทรกซ้อนที่อันตราย เช่น ภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกิน ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ดังนั้น หากแน่ใจว่าดูแลตนเองดีแล้วแต่ยังมีอาการผิดปกติอยู่ ควรรีบเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการตรวจและรักษาต่อไปค่ะ


บทความที่น่าสนใจ


ดู 9,049 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


ครูก้อย.jpg

คุยกับครูก้อย/ทีมงาน

ครูก้อยเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เบบี้แอนด์มัม (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นเจ้าของเพจ BabyAndMom.co.th (เพจให้ความรู้สำหรับผู้มีบุตรยาก) ครูก้อยยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่านใดที่ต้องการคุยกัน สามารถทัก LINE@ เข้ามาได้เลยนะคะ โดยจะมีครูก้อยและทีมงานคอยให้การต้อนรับค่ะ

bottom of page