แม้ว่าภาวะเลือดออกขณะตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นได้ในช่วงไตรมาสแรกในคุณแม่หลาย ๆ คนก็ตาม แต่ก็จัดเป็นหนึ่งในปัญหาที่ทำให้คุณแม่คุณพ่อหลายคนวิตกกังวลเป็นอย่างมาก ว่าจะเป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ รวมถึงตัวคุณแม่เองด้วยหรือไม่ หากเกิดขึ้นแล้วมีวิธีแก้และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง วันนี้ครูก้อยจะมาเล่าให้ฟังค่ะ
ภาวะเลือดออกขณะตั้งครรภ์คืออะไร
เป็นภาวะเลือดออกในช่วงไตรมาสแรกหรือช่วง 1-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ โดยเลือดที่ออกมาจะมีสีอ่อน สีน้ำตาลคล้ำ ไปจนถึงสีแดงซึ่งเป็นสีที่อันตรายที่สุด บางรายอาจมีก้อนเลือดปนออกมาด้วย ภาวะดังกล่าวพบได้ 1 ใน 3 ของคุณแม่ตั้งครรภ์ แม้จะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกมากที่สุดแต่ภาวะดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ทุกไตรมาส ซึ่งแต่ละไตรมาสจะมีอาการและลักษณะเลือดที่ไหลออกมาแตกต่างกัน
สาเหตุของเลือดออกขณะตั้งครรภ์
ท้องนอกมดลูก (Ectopic pregnancy) เกิดจากความผิดปกติของการผสมระหว่างไข่และอสุจิ ทำให้ตัวอ่อนฝังตัวบริเวณท่อนำไข่ซึ่งอยู่นอกโพรงมดลูก ส่งผลให้ท่อนำไข่แตกและมีเลือดไหลออกมา สังเกตได้จากอาการร่วมอย่างอาการวิงเวียนศีรษะ, ปวดเกร็งช่วงท้องล่างอย่างรุนแรง
ภาวะท้องลม (Blighted Ovum) เกิดจากการปฏิสนธิที่ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากไข่และอสุจิผสมเป็นตัวอ่อนฝังตัวในช่วงแรก ส่วนตัวเด็กกลับฝ่อจนเหลือเพียงถุงตั้งครรภ์
แท้งบุตร (Abortion) เกิดจากความผิดปกติของตัวอ่อน หรือความผิดปกติของมดลูก รวมถึงการรับประทานยาบางชนิดที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ ทำให้ตัวอ่อนไม่แข็งแรงพอต่อการเจริญเติบโต การแท้งบุตรพบได้ในช่วง 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์
ครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar pregnancy) เกิดจากตัวอ่อนและรกเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้เนื้อเยื่อของตัวอ่อนพัฒนากลายเป็นเนื้องอกในมดลูกแทน หากปล่อยไว้นานอาจพัฒนากลายเป็นโรคมะเร็งไข่ปลาอุก (Choriocarcinoma) ได้อีกด้วย
แม้ว่าอาการของทั้ง 4 ภาวะในช่วงเริ่มแรกจะมีความใกล้เคียงกับการตั้งครรภ์ทั่วไป แต่เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์มากขึ้น จะเริ่มแสดงอาการผิดปกติอย่างเลือดไหลหรือปวดท้องน้อยขั้นรุนแรง จนเป็นเหตุให้ต้องยุติการตั้งครรภ์ในที่สุดค่ะ
ลักษณะของเลือดออกขณะตั้งครรภ์ บ่งบอกอะไรได้บ้าง
เลือดสีอ่อน เกิดจากไข่ที่ผ่านการปฏิสนธิแล้วกำลังฝังตัวเข้าไปในผนังมดลูก ส่งผลให้มีเลือดซึมออกมา แต่มีปริมาณเพียงเล็กน้อยและจะหายไปเองภายในเวลาไม่นาน
เลือดสีน้ำตาลหรือสีดำคล้ำ อาจหมายถึงเลือดเก่าที่ค้างอยู่ไหลออกมาจากมดลูก
เลือดสีแดงสด เป็นสีที่อันตรายที่สุด เนื่องจากเป็นสีที่แสดงให้เห็นว่าเกิดความผิดปกติด้านในมดลูก เช่น ตัวอ่อนยังไม่แข็งแรงพอต่อการฝังตัว
เลือดออกพร้อมกับปวดท้องน้อย อาจเกิดจากความผิดปกติของมดลูกหรือเกิดการติดเชื้อ ส่งผลให้อาการปวดท้องน้อยรุนแรงมากยิ่งขึ้น
มีเลือดออก พร้อมกับลูกไม่ดิ้น อาจเกิดความผิดปกติทั้งมดลูกและตัวลูกเอง แนะนำให้รีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุดค่ะ
อาการเลือดออกขณะตั้งครรภ์ของแต่ละไตรมาส
1.ไตรมาสแรก
โดยทั่วไปจะเป็นเลือดสีอ่อน ซึ่งเกิดจากไข่ที่ผ่านการปฏิสนธิแล้วฝังตัวเข้าไปในผนังมดลูก ส่งผลให้มีเลือดซึมออกมา แต่มีปริมาณเลือดออกมาเพียงเล็กน้อยและจะหายไปเองภายในเวลาไม่นาน
2.ไตรมาส 2-3
เลือดที่ออกในช่วงหลังนี้อาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นปากมดลูกอักเสบหรือขยายตัว, มดลูกแตก, รกเกาะต่ำ, รกลอกก่อนกำหนด รวมไปถึงเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด หากมีอาการปวดท้องน้อยหรือเลือดออกรุนแรงมากขึ้น ให้รีบพบสูตินรีแพทย์โดยเร็วที่สุดค่ะ
ตั้งครรภ์มีเลือดออกกี่วันหาย
กรณีที่เป็นเลือดล้างหน้าเด็กจะมีเลือดไหลออกมาเป็นจุดเลือดเล็ก ๆ ประมาณ 6-12 วันแรกของการตั้งครรภ์ โดยเลือดจะหยุดไหลและหายไปเองในไม่กี่ชั่วโมงหรืออาจหายในช่วง 2-3 วันหลังมีอาการ
เลือดออกขณะตั้งครรภ์แบบไหนอันตราย
หากพบเลือดออกเป็นสีแดงหรือมีอาการปวดท้องน้อยขั้นรุนแรงอยู่ในระดับที่ไม่สามารถทนได้ ลุกไม่ไหว นับเป็นสัญญาณเตือนถึงอันตรายจากความผิดปกติของมดลูกหรือตัวอ่อน แนะนำให้ไปพบแพทย์ทันที
หากมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ควรทำอย่างไร
ครูก้อยขอแนะนำให้จดบันทึกความเปลี่ยนแปลงของอาการเลือดออก ว่าเลือดที่ไหลออกแต่ละครั้งมีสีแตกต่างกันหรือไม่ มีปริมาณเลือดมากน้อยแค่ไหน หากพบเนื้อเยื่อไหลจากช่องคลอด ให้เก็บเนื้อเยื่อไปให้แพทย์เพื่อวินิจฉัยและหาทางรักษาต่อไป ทั้งนี้งดใช้ผ้าอนามัยแบบสอดและงดมีเพศสัมพันธ์ขณะมีเลือดออกเพื่อความปลอดภัยต่อตัวคุณแม่เอง ทางที่ดีควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิน ๆ จะช่วยป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจรุนแรงจนมีผลต่อลูกน้อยในครรภ์ได้ด้วยค่ะ
ป้องกันเลือกออกขณะตั้งครรภ์ได้ ด้วยการบำรุงร่างกายอย่างถูกวิธี
พักผ่อนให้เพียงพอ การนอนที่ดีควรนอนในช่วง 20.00-22.00 น. และใช้เวลานอนประมาณ 7-8 ชั่วโมง เนื่องจากเป็นช่วงที่ร่างกายหลั่งสารเมลาโทนิน (Melatonin) เข้าสู่กระแสเลือดและทำให้หลับง่าย หากคุณพ่อคุณแม่คนไหนฝืนตัวเองจนนอนดึก นอนน้อย อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา รวมถึงระบบสืบพันธุ์ด้วยค่ะ
ออกกำลังกายเป็นประจำ การออกกำลังกายช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะส่วนต่าง ๆ จึงทำให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น แถมยังช่วยควบคุมน้ำหนักให้สมดุล ไม่น้อยหรือเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน สำหรับการออกกำลังกายที่ครูก้อยแนะนำจะเป็นการเดินเร็ว, วิ่งจ็อกกิ้ง, ปั่นจักรยาน, ว่ายน้ำ, เล่นโยคะ หรือเต้นแอโรบิคก็ได้เช่นกันค่ะ เพียงแต่ต้องออกอย่างเหมาะสม ไม่หักโหมหรือทิ้งช่วงนานจนเกินไป
จัดการความเครียด เมื่อเกิดความเครียด ร่างกายจะหลั่งสารคอร์ติซอล (Cortisol) ที่รบกวนระบบการทำงานของระบบสืบพันธุ์ ส่งผลให้มีลูกยาก ทางที่ดีครูก้อยขอแนะนำให้หาวิธีจัดการความเครียดอย่างเหมาะสมด้วยการหากิจกรรมที่หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทำก่อนนอนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เนื่องจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีแสงบลูไลท์ (Blue light) ซึ่งจะไปกระตุ้นให้สมองตื่นตัว ส่งผลให้หลับยากขึ้นนั่นเอง
เลือกรับประทานอาหารบำรุงร่างกาย นอกจากเลือกรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารบำรุงร่างกายอย่างโปรตีน, วิตามิน A, B1, B2, D, แคลเซียม และธาตุเหล็กที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของไข่และมดลูกให้พร้อมต่อการตั้งครรภ์แล้ว การรับประทานไขมันดียังช่วยรักษาปัญหาสุขภาพและช่วยเตรียมความพร้อมต่อการตั้งครรภ์มากยิ่งขึ้นด้วยค่ะ เนื่องจากไขมันดี อุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่ช่วยนำไขมันเลว หรือ LDL (Low Density Lipoprotein) ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีและนำไตรกลีเซอไรด์ออกจากหลอดเลือดแดงและเนื้อเยื่อ จากนั้นจึงส่งไปยังตับเพื่อขับออกจากร่างกาย ช่วยป้องกันไขมันชนิดเลวที่อาจสร้างปัญหาสุขภาพตามมา โดยเฉพาะปัญหาน้ำหนักเกินมาตรฐานซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการมีลูกยากนั่นเองค่ะ
Comments