งานวิจัยเผย 6 ประโยชน์
สารต้านอนุมูลอิสระ "เควอซิทีน"
ต่อสตรีมีบุตรยาก"
"เควอซิทิน" (Quercetin) เป็นหนึ่งในสารพฤกษเคมี หรือ ไฟโตนิวเทรียนท์ หมายถึง สารเคมีที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพที่พบเฉพาะในพืช สารกลุ่มนี้อาจเป็นสารที่ทำให้พืชผักชนิดนั้นๆ มีสี กลิ่นหรือรสชาติที่เป็นลักษณะเฉพาะตัว
เควอซิทีนเป็นรงควัตถุในกลุ่ม "ฟลาโวนอยด์" (Flavonoids) ที่พบในพืชผักผลไม้หลายชนิด เช่นหอมแดง แอปเปิ้ล เบอร์รี่ ผักเคล และพบสูงสุดในมะกรูดสดเมื่อเทียบกับผักผลไม้ชนิดอื่น โดยมีงานวิจัยศึกษาเปรียบเทียบปริมาณเควอซิทีนในผักผลไม้หลายชนิด พบว่า
🍋มะกรูดมีปริมาณสารเควอซิทีนสูงที่สุดถึง 44mg/มะกรูด 100 g เมื่อเทียบกับผลไม้เปรี้ยวชนิดอื่น
เควอซิทิน เป็นสารที่ให้ฤทธิ์ในการต้านออกซิเดชั่นสูงที่สุด ให้ฤทธิ์ในการป้องกันดังนี้
- ป้องกันการอักเสบของเซลล์
- ป้องกันแบคทีเรียและไวรัส
- ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรค
- ควบคุมการออกฤทธิ์ของฮอร์โมน
- ช่วยป้องกันอาการแพ้
- ป้องกันการแข็งตัวของเลือด
ป้องกันหลอดเลือดเลี้ยงสมองอุดตัน ป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด
- มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านเซลล์มะเร็ง ยังยับยั้งวงจรชีวิตเซลล์ หยุดการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง
- ยับยั้งการเกิดเกิดอะพ็อพโทซิส (apoptosis) หรือการตายหรือเสื่อมของเซลล์
📚นอกจากนี้มีงานวิจัยหลายฉบับศึกษาถึงสรรพคุณของเควอซิทินที่ช่วยเสริมภาวะเจริญพันธุ์ซึ่งส่งผลดีต่อผู้มีบุตรยาก ครูก้อยศึกษาและรวบรวมมาให้แม่ๆแล้ว ไปศึกษาพร้อมกันเลยค่ะ
1. ป้องกันไข่ฝ่อ
📚จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Oncotarget เมื่อปี 2017
ศึกษาพบว่า...สารเควอซิทินช่วยลดการเสื่อมสภาพของเซลล์ไข่ โดยปริมาณสารต่อต้านอนุมูลอิสระ “Quercetin” ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เปอร์เซ็นต์ความผิดปกติของเซลล์ไข่ลดลงอย่างมาก
โดยเฉพาะการเลี้ยงไข่ที่ 24 ชั่วโมง
จะเห็นว่าหากไม่มี “สารต้านอนุมูลอิสระ เควอซิทิน” ไข่จะฝ่อเสียเกือบ 80% แต่ในกรณีที่มีเควอซิทินเพียง 10 ไมโครโมลาร์ จะช่วยลดความเสียหายได้เกือบครึ่งหนึ่ง ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสในความสำเร็จจนถึงระดับบลาสโตซีสต์ได้อีกเท่าตัว
📚อีกงานวิจัยหนึ่ง เป็นงานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Cell Death & Disease เมื่อปี 2020 ศึกษาสาเหตุการท้องยากอันเนื่องมาจากเซลล์ไข่ที่เสื่อม (impaired oocyte) เมื่อผู้หญิงมีอายุมากขึ้น เพื่อหาแนวทางในการชะลอเซลล์ไข่ไม่ให้ฝ่อเสียหายจากการเลี้ยงไข่ภายนอก (In Vitro Maturation: IVM)
โดยได้ศึกษาจากไข่ของหนูทดลองแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับสารเควอซิทีนกับกลุ่มที่ไม่ได้รับสารเควอซิทิน พบว่า...
เควอซิทีนช่วยให้อัตราการเลี้ยงไข่สำเร็จ 19.6% และเพื่มอัตราตัวอ่อนถึงระยะบลาสโตซีสต์ 15.5% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้สารเควอซิทิน ดังนั้นเควอซิทินจึงอาจมีส่วนช่วยในการเพิ่มความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ในการรักษาผู้มีบุตรยากต่อไป
.
2. บำรุงรังไข่
📚มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Ovarian Research เมื่อปี 2018
ศึกษาถึงคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระของสารเควอซิทินที่มีประโยชน์ต่อการทำงานของรังไข่ (Ovary) จากงานวิจัยสรุปไว้ว่า "รังไข่" เป็นอวัยวะที่ sensitive ง่ายมากต่อการเสื่อมถอยของเซลล์
(aging) จากอนุมูลอิสระ หรือ ความแก่นั่นเอง ซึ่งรังไข่ที่แก่บอกได้จากการลดลงของฟองไข่และคุณภาพของเซลล์ไข่
รังไข่ของผู้หญิงวัยทอง หรือ ผู้หญิงที่มีภาวะวัยทองก่อนวัยจะทำงานด้อยประสิทธิภาพลง ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของเซลล์ในรังไข่ก็ลดน้อยลง เมื่อสารต้านอนุมูลอิสระในรังไข่เพิ่มมากขึ้นก็จะทำลายโครงสร้างและระบบการทำงานของรังไข่ โดยอนุมูลอิสระจะเข้าไปทำลาย lipid และกรดไขมัน รวมไปถึงโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบของเซลล์
จากงานวิจัยศึกษาในหนูทดลองพบว่า วาารเควอซิทินช่วยเพิ่มความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของรังไข่ซึ่งอาจส่งผลต่อการช่วยชะลอความเสื่อมของรังไข่ได้
.
3. ต้านการอักเสบ
ด้วยคุณสมบัติที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพ เควอซิทินจึงมีสรรพคุณในการต้านการอักเสบ (Anti- Inflammatory Properries) มีงานวิจัยหลายฉบับที่ศึกษาถึงฤทธิ์ในการต้านการอักเสบของสารเควอซิทิน
📚งานวิจัยฉบับหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อปี 2016 ศึกษาถึงสรรพคุณของสารเควอซิทีนที่ช่วยลดการอักเสบในร่างกายและยังเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายอีกด้วย
การอักเสบเป็นกระบวนการที่สำคัญมากในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อให้กลับมาเป็นปกติ การอักเสบจะเกิดขึ้นเพื่อป้องกันการทำลายเซลล์ หรือ การบาดเจ็บในร่างกายซึ่งอาจมีสาเหตุมาจาก ความเครียด ความเจ็บป่วย การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
กระบวนการอักเสบเป็นกลไกในการป้องกันสิ่งแปลกปลอม แต่หากมีการอักเสบมากเกินไปก็จะเกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อได้
📚จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Reproductive Science เมื่อปี 2011 ศึกษาพบว่า...
การอักเสบเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคทางสูติศาสตร์ (Gyneological disease) ซึ่งการอักเสบ (Inflammation) ส่งผลต่อการตกไข่และการสร้างฮอร์โมนรวมไปถึงเกี่ยวข้องกับภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการมีบุตรนั้นการอักเสบมีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะต่างๆ ดังนี้
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
- ภาวะถุงน้ำหลายใบในรังไข่ (PCOS)
- ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ
- ซีสต์รังไข่ หรือ เนื้องอกในโพรงมดลูก
- รังไข่เสื่อม วัยทองก่อนวัย
- เซลล์ไข่และเซลล์สเปิร์มที่ด้อยคุณภาพ
- การที่ตัวอ่อนไม่ฝังตัว หรือแท้งในระยะเริ่มต้น
.
4. ปรับสมดุลฮอร์โมน เยียวยาภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง
(PCOS)
ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้มีบุตรยาก โดยภาวะนี้มีสาเหตุมาจากฮอร์โมนเพศที่ไม่สมดุล โรคอ้วน เบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูงซึ่งมีส่วนเกี่ยวพันกันก่อให้เกิดภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง
📚จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Ovarian Research ปี 2020
ทำการศึกษาโดยการรวบรวมงานวิจัยที่เกี่ยวกับ ประโยชน์ของ Quercetin ต่อผู้หญิงที่เป็น PCOS โดยรวบรวมงานวิจัยทั้งที่ทดลองในมนุษย์และในหนูทดลอง ได้ผลการศึกษาถึงประโยชน์ของ Quercetin ต่อการเยียวยา PCOS ในการช่วยปรับสมดุลฮอร์โมน จากการศึกษาในผู้หญิงที่อยู่ในภาวะ PCOS พบว่า เควอซิทีนช่วยลดระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน และฮอร์โมนแอนโดรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชาย
และช่วยเสริมการสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน และ เอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่สำคัญในการสืบพันธุ์ และการตั้งครรภ์
นอกจากนี้ยังช่วยลดระดับฮอร์โมน LH ซึ่งเป็นฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ ซึ่งผู้ป่วย PCOS จะมีฮอร์โมนตัวนี้สูงเกินไป ส่งผลให้รังไข่ทำงานไม่เป็นปกติ
.
5. ลดน้ำตาลในเลือด
ผู้หญิงที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงส่งผลต่อความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน และยังเป็นการเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง (PCOS) จากกงานวิจัยที่กล่าวมาข้างต้น ได้มีการทดลองในหนูทดลองที่เป็น PCOS พบว่าการได้รับสารเควอซิทีนในปริมาณ 25mg/kg ช่วยลดระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดได้ จึงส่งผลต่อการช่วยลดภาวะดื้ออินซูลิน
ยังมีรายงานจากการศึกษาว่าการได้รับเควอซิทีนวันละ 1,000 mg เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ช่วยลดการดื้ออินซูลิน และ ลดระดับน้ำตาลกลูโคสใน
เลือดได้อีกด้วย
.
6. ลดความดันโลหิต
ความดันโลหิตสูงเป็นอันตรายอย่างมากต่อผู้หญิงตั้งครรภ์เพราะจะก่อให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด มีภาวะเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์ ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงทารกลดลง ทำให้ทารกโตช้าหรือเสียชีวิตในครรภ์ได้
ดังนั้นการรักษาระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติก่อนการตั้งครรภ์จะส่งผลต่อการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย
มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the American Heart Association เมื่อปี 2016
ศึกษาพบว่าสารเควอซิทินช่วยลดความดันโลหิตได้ จึงเป็นแนวทางในการใช้ประยุกต์ใช้เพื่อรักษาภาวะความดันโลหิตสูงต่อไป
.
.
กล่าวโดยสรุป สารเควอซิทีนส่งผลดีต่อผู้หญิงที่มีบุตรยาก เนื่องจากมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยปกป้องเซลล์ไข่ ช่วยชะลอความเสื่อมของรังไข่ ลดภาวะดื้ออินซูลิน ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดฮอร์โมนเพศชายและระดับฮอร์โมน LH รวมถึงช่วยลดการอักเสบของเซลล์อันเป็นสาเหตุของภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง (PCOS)
น้ำมะกรูดคั้นสดมีสารเควอซิทีนสูง จึงเหมาะกับแม่ๆ ที่มีบุตรยาก อย่าลืมกระดกเช้าเย็น ตัวช่วยดีๆ บำรุงดี เบบี๋มาสมใจค่ะ
Comments