top of page
ค้นหา

📣 จริงหรือไม่? คัดโครโมโซมตัวอ่อนผ่านแล้ว ติดชัวร์ 100 %



ในการทำเด็กหลอดแก้ว การคัดโครโมโซมตัวอ่อนก่อนการฝังตัวเป็นการเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีการคัดโครโมโซมตัวอ่อนแล้ว ไม่ได้หมายความว่าตัวอ่อนจะปกติ100% หรือฝังตัวติดทุกกรณี วันนี้เราไปศึกษากันค่ะว่าการใส่ตัวอ่อนไม่ติดเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง



การตรวจคัดกรองโครโมโซมตัวอ่อนก่อนการฝังตัว (Preimplantation Genetic Screening หรือ PGS) เป็นวิธีการตรวจวิเคราะห์ทางพันธุกรรมที่เป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว



สำหรับผู้ที่มีบุตรยาก ปัจจุบันเทคโนโลยีการตรวจโครโมโซมของตัวอ่อน Next-Generation sequencing (NGS) ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาสำหรับการตรวจคัดกรองหาความผิดปกติของโครโมโซมตัวอ่อนระยะ 3 วัน หรือ 5 วัน ก่อนย้ายคืนสู่โพรงมดลูก โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ คัดกรองโครโมโซมผิดปกติที่รุนแรงซึ่งมีผลต่อการฝังตัว เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสสำเร็จของการตั้งครรภ์



●การตรวจคัดกรองโครโมโซมตัวอ่อนเหมาะกับใคร?



สตรีที่มีอายุกว่า 35 ปี ที่ต้องการมีบุตร


สตรีที่มีประวัติการแท้งบุตรหลายครั้งโดยไม่ทราบสาเหตุ


สตรีที่เคยมีประวัติแท้งบุตรที่โครโมโมโซมผิดปกติ


คู่แต่งงานที่เคยทำเด็กหลอดแก้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป



●วิธีการคัดโครโมโซมตัวอ่อนก่อนการฝังตัว



ตัวอ่อนที่มีคุณภาพดีจะได้รับการแยกเซลล์ออกมา 1-2 เซลล์ ด้วยเครื่องมือชนิดพิเศษโดยใช้เลเซอร์หรือกรด


เซลล์ที่ได้จะถูกนำมาตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยว่าเซลล์นั้นมีความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ต้องการตรวจหาหรือไม่


ตัวอ่อนเฉพาะที่มีเซลล์ที่ตรวจพบว่ามีความปกติเท่านั้นที่จะได้ย้ายเข้าโพรงมดลูกตามขั้นตอนการย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูกต่อไป



.



●เหตุใดคัดโครโมโซมตัวอ่อนแล้วยังใส่ไม่ติด?



ปัจจัยที่มีผลต่อการฝังตัว กรณีทำเด็กหลอดแก้วนั้น นอกจากโครโมโซมที่ปกติแล้ว ยังมีสาเหตุหลักๆ อยู่ 4 ประการ ดังนี้ค่ะ



(1) คุณภาพตัวอ่อน



นอกจากโครโมโซมของตัวอ่อนต้องปกติทุกคู่แล้ว เกรดตัวอ่อนก็สำคัญไม่แพ้กัน ต้องเกรด A แข็งแรง คุณภาพดี ซึ่งคุณภาพของตัวอ่อนนี้จะดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพของเซลล์ไข่และสเปิร์มตั้งต้นเป็นหลักค่ะ เช่น ผู้หญิงที่มีอายุมาก โครโมโซมของเซลล์ไข่ก็จะผิดปกติมากขึ้นด้วย ทำให้เมื่อเกิดการปฏิสนธิจะได้ตัวอ่อนที่คุณภาพไม่ดี หรือ ตัวอ่อนทีมีโครโมโซมผิดปกติ


นอกจากนี้พลังงานในเซลล์ตัวอ่อนต้องเพียงพอที่จะทำให้ตัวอ่อนนั้นแบ่งเซลล์ไปต่อได้ตามเกณฑ์



(2) ผนังมดลูกต้องสมบูรณ์พร้อมรับการฝังตัว



ผนังมดลูกต้องหนาพอ ใสเป็นสุ้น เรียงสวยสามชั้น (Triple lines) และมดลูกต้องอุ่น ไม่เย็นผนังมดลูกที่พร้อมในการฝังตัวต้องไม่หนาทึบอันเกิดจากการทับถมของประจำเดือนเก่าที่คั่งค้าง ซึ่งส่งผลให้เลือดไม่ไหลเวียนไปเลี้ยงมดลูกได้อย่างเพียงพอ ฝังตัวได้ยาก



และเยื่อบุโพรงมดลูกต้องไม่บางเกินไป โดยควรมีความหนาอยู่ที่ 8-10 มิล ในวันนัดใส่ตัวอ่อนยิ่งไปกว่านั้นมดลูกต้องมีตัวรับฮอร์โมนยาที่ดี คือ มีตัว Receptorในมดลูกที่ตอบสนองฮอร์โมนยาโปรเจสเตอโรนหรือเอสโตรเจน ที่หมอให้ได้ดี ซึ่งในปัจจุบันไม่สามารถเทสตรงนี้ได้ว่าใครมีตัว Receptor ดีหรือไม่ เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล บางคนหมอให้ยา 10 ก็ตอบสนองรับได้ 10 บางคนรับได้ 5 โอกาสในการฝังตัวของตัวอ่อนก็จะแตกต่างกันไป



ในเรื่องของมดลูกนั้น ยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อการฝังตัวของตัวอ่อน ได้แก่



2.1 เนื้องอกในโพรงมดลูก



หากมีเนื้องอกในโพรงมดลูกขนาดใหญ่ และเนื้องอกนั้นอยู่ในตำแหน่งที่อาจจะขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อนได้ ก่อนเข้ากระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว จะต้องมีการตรวจภายในให้เรียบร้อยก่อน หากพบเนื้องอกในโพรงมดลูก แพทย์จะได้รักษาหรือผ่าตัดออกก่อนจะเข้ากระบวนการต่อไป



2.2 ผนังมดลูกพริ้ว



เกิดจากการเคลื่อนตัว หรือเกร็งตัวของมดลูก ซึ่งเกิดขึ้นได้เองตลอดเวลา ไม่สามารถบังคับหรือห้ามได้ ทำให้มดลูกมีการบีบตัว และอาจส่งผลต่อการฝังตัวของตัวอ่อนได้ ในกรณีที่มีการเคลื่อนตัวมากผิดปกติ แพทย์อาจพิจารณาให้ทานยาคลายกล้ามเนื้อมดลูกเพื่อรักษาก่อนใส่ตัวอ่อนค่ะ



2.3 มีภาวะความบกพร่องของการหลั่งฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Luteal phase defect)



ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สำคัญต่อการตั้งครรภ์ต่ำเกินไป ทำให้ผนังมดลูกไม่ฟอร์มตัวหนาขึ้นพร้อมที่จะรองรับการฝังตัวของตัวอ่อน ส่งผลให้ตัวอ่อนไม่ฝังตัว หรือแท้งในระยะเริ่มต้น



ในกรณีที่ฝ่ายหญิงมีผนังมดลูกไม่พร้อมเพราะฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนต่ำ แพทย์อาจต้องให้ยาฮอร์โมนเสริมให้มดลูกพร้อมก่อน การย้ายตัวอ่อนก็อาจต้องเลื่อนระยะเวลาออกไปอีกค่ะ



2.4 อุ้งเชิงกรานอักเสบ



ซึ่งเป็นการติดเชื้อบริเวณระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ได้แก่ มดลูก ปีกมดลูกและท่อนำไข่ ซึ่งหากมีการติดเชื้อที่มดลูกจะส่งผลต่อการฝังตัวของตัวอ่อน หรือ การแท้งในระยะเริ่มต้น



(3) มีโรคประจำตัวที่ยังไม่ได้รับการรักษาซึ่งมีผลต่อการฝังตัวของตัวอ่อน ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดัน ไขมันสูง มะเร็งปากมดลูก ฮอร์โมนไทรอยด์ (TSH) สูง



(4) การดูแลตัวเองหลังใส่ตัวอ่อน


โดยแม่ที่ใส่ตัวอ่อนนั้นใน 7 วันแรกเป็นช่วงเวลาที่ตัวอ่อนกำลังฝังตัว แม่ๆควรงดการเคลื่อนไหวเร็ว ไม่ยกของหนัก งดการออกกำลังกาย ระมัดระวังเรื่องอาหารการกินเพื่อไม่ให้เกิดอาการท้องเสีย และท้องผูก



นอกจากนี้ต้องใช้ยาตามหมอสั่งอย่างเคร่งครัด และรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ไม่เจ็บป่วย



นอกจากปัจจัยที่กล่าวมา ยังมีปัจจัยอื่นๆอีก


เช่น การสัมผัสกับสารเคมี การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมี เช่น ยารักษาสิว การใช้ยารุนแรงหรือสารเสพติด หรือ อุบัติเหตุที่ไม่สามารถควบคุมได้



ดังนั้นถึงแม้ว่าคัดโครโมโซมผ่าน ได้ตัวอ่อนเกรดA ไม่ได้หมายความว่าจะติด 100% ถ้าคัดผ่านมีโอกาสติด 75% อีก 25 % ก็เป็นปัจจัยอื่นๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้นค่ะ



ที่สำคัญคือ การตรวจโครโมโซมไม่สามารถดึงเอาทุกเซลล์มาตรวจได้ จะดึงแค่เซลล์บางส่วนมาตรวจ ดังนั้นจึงยังมีข้อจำกัดตรงนี้อยู่ แม่ๆ จึงต้องเผื่อใจไว้บ้างค่ะ ถึงแม้การแปรผลจากการตรวจโครโมโซมคือผ่านก็จริง แต่ก็ยังมีเซลล์ที่ไม่ได้ตรวจ มันก็อาจเป็นเซลล์เหล่านั้นก็ได้ที่ผิดปกติค่ะ



.


.



ท้ายที่สุดนี้การดูแลร่างกายให้แข็งแรง เตรียมบำรุงผนังมดลูกให้พร้อมก่อนใส่ตัวอ่อน และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และดูแลตัวเองหลังใส่ตัวอ่อน



ก็จะเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสในการฝังตัวได้ค่ะ

ดู 244 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


ครูก้อย.jpg

คุยกับครูก้อย/ทีมงาน

ครูก้อยเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เบบี้แอนด์มัม (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นเจ้าของเพจ BabyAndMom.co.th (เพจให้ความรู้สำหรับผู้มีบุตรยาก) ครูก้อยยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่านใดที่ต้องการคุยกัน สามารถทัก LINE@ เข้ามาได้เลยนะคะ โดยจะมีครูก้อยและทีมงานคอยให้การต้อนรับค่ะ

bottom of page