หลายคนอาจยังไม่รู้มาก่อนว่าโอกาสตั้งครรภ์นั้นมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศโดยตรง หากฮอร์โมนเพศดี ย่อมมีโอกาสตั้งครรภ์มากกว่าผู้ที่มีฮอร์โมนเพศผิดปกติอย่างแน่นอน แล้วมีวิธีไหนที่ช่วยบำรุงฮอร์โมนเพศให้แข็งแรง พร้อมมีลูกได้บ้าง วันนี้ครูก้อยมีคำตอบมาฝากค่ะ
ฮอร์โมนเพศคืออะไร ทำไมต้องบำรุงฮอร์โมนเพศ
ฮอร์โมนเพศมีความสำคัญต่อสุขภาพร่างกายของเรา เพราะเป็นฮอร์โมนที่มีผลต่ออวัยวะส่วนต่าง ๆ ร่างกาย โดยเฉพาะระบบสืบพันธุ์และประจำเดือน ฮอร์โมนเพศหญิงประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับระบบเจริญพันธุ์ หัวใจ สมองและกระดูก ส่วนฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือน อารมณ์และจิตใจ เมื่ออายุมากขึ้น การผลิตฮอร์โมนเพศก็จะลดลงตามกาลเวลาด้วย ส่งผลฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุลและเกิดความเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เหนื่อยล้าง่าย หงุดหงิดบ่อย รวมถึงเจ็บป่วยง่ายขึ้นอีกด้วย ดังนั้นการบำรุงฮอร์โมนเพศจะช่วยรักษาสมดุลฮอร์โมนเพศและช่วยเพิ่มโอกาสให้ตั้งครรภ์ง่ายยิ่งขึ้นด้วย
ฮอร์โมนเพศมีอะไรบ้าง
1. ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen)
เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากรังไข่, ต่อมหมกไตและเซลล์ไขมัน ทำหน้าที่ควบคุมระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง จึงมีผลต่อการเจริญเติบโตทางร่างกายของผู้หญิง การมีประจำเดือน และการตั้งครรภ์ หากฮอร์โมนเอสโตรเจนจะทำให้มีอาการก่อนมีประจำเดือนหรือ PMS (Premenstrual Syndrome) เช่น เจ็บเต้านม ปวดท้อง ท้องอืด ปวดศีรษะ น้ำหนักขึ้น นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย เหนื่อยล้า เป็นต้น
2. ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone)
เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากบางส่วนของรกและรังไข่หลังช่วงไข่ตก ทำหน้าที่ควบคุมภาวะไข่ตกและประจำเดือน กระตุ้นเยื่อบุโพรงมดลูกให้หนาขึ้นเพื่อเตรียมฝังตัวอ่อนและนำมาสู่การตั้งครรภ์ แต่หากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนไม่สมดุล อาจทำให้ไข่ไม่สามารถฝังตัวได้หรือหากตั้งครรภ์แล้วก็อาจเสี่ยงต่อการแท้งบุตรมากกว่าผู้ที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสมดุล
3. ฮอร์โมน Follicular stimulating hormone (FSH)
เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมใต้สมอง ทำหน้าที่กระตุ้นไข่ให้เจริญเติบโตและพร้อมต่อการปฏิสนธิ อีกทั้งเสริมสร้างการเจริญเติบโตของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ หากฮอร์โมน FSH น้อยเกินไป อาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือประจำเดือนหมดก่อนวัย เสี่ยงต่อการมีบุตรยากมากขึ้นด้วยค่ะ
4. ฮอร์โมน Luteinizing hormone (LH)
เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมใต้สมอง ทำหน้าที่กระตุ้นการตกไข่ ควบคุมรอบเดือน โดยทั่วไปแล้วฮอร์โมน LH จะหลั่งหลังจากการตกไข่ประมาณ 12 - 36 ชั่วโมง หากมีเพศสัมพันธ์แบบธรรมชาติแล้วจะเกิดโอกาสตั้งครรภ์สูงมาก แต่หากร่างกายหลั่งฮอร์โมน LH ต่ำกว่า 5-25 IU/L อาจเสี่ยงต่อภาวะมีบุตรยากได้ด้วยเช่นกันค่ะ
ฮอร์โมนเพศลดลง เกิดจากอะไร
อายุเพิ่มขึ้น
ความเครียดสะสม ทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) มากเกินไปและทำให้เกิดร่างกายเสื่อมถอยเร็วกว่าวัยอันควร
ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) หรือภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์
รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและคาเฟอีนมากเกินไป
ได้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย เช่น ยาฆ่าแมลง
ยารักษาโรคบางชนิดที่มีผลต่อฮอร์โมนเพศ
อาการของฮอร์โมนเพศลดลง
หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน
นอนหลับยาก ปวดหัวหลังตื่นนอน
อ่อนเพลียบ่อย อยากนอนตลอดทั้งวัน แต่พอนอนแล้วก็นอนไม่หลับ
มีสิวขึ้นเยอะ รักษายาก
สมาธิสั้น จดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ไม่ดีเท่าที่ควร
กระดูกเปราะง่าย เสี่ยงต่อการบาดเจ็บบ่อย
ช่องคลอดฝ่อ แห้ง รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
เกิดถุงน้ำ (ซีสต์) หรือเนื้องอกบริเวณมดลูก เต้านม และรังไข่
ผิวแห้งง่าย
มีวิธีเพิ่มฮอร์โมนเพศอย่างไรได้บ้าง
1. รับประทานอาหารที่มีเอสโตรเจนสูง
เมล็ดแฟลกซ์ นอกจากเอสโตรเจนแล้วยังอุดมไปด้วยกรดอัลฟาไลโนเลนิก (Alpha-Linolenic Acid) ช่วยเสริมความแข็งแรงให้แก่หัวใจ ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและระดับความดันโลหิต ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม
ถั่วชนิดต่าง ๆ เช่น ถั่วพิตาชิโอ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วอุดมไปด้วยโปรตีน ไฟเบอร์ และเอสโตรเจน ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนเพศ กระตุ้นการขับถ่าย ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด อีกทั้งเติมความสดชื่นให้แก่ร่างกายอีกด้วยค่ะ
งา อุดมไปด้วยสารลิกแนน (Lignans) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด บรรเทาอาการจากโรคเบาหวาน อีกทั้งชะลอความแก่ให้แก่ร่างกายและลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากวัยทอง
องุ่น อุดมไปด้วยสารเรสเวอราทรอล (Resveratrol) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยกำจัดคอเลสเตอรอลส่วนเกินออกจากร่างกาย ลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมอง และการติดเชื้อไวรัส ลดภาวะความเครียด และเสริมประสิทธิภาพของความจำให้ดีขึ้น
ผักใบเขียว อุดมไปด้วยไฟเบอร์ วิตามิน และเกลือแร่ที่ช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกาย ปรับสมดุลฮอร์โมน กระตุ้นการขับถ่าย ช่วยเผาผลาญโปรตีน แป้ง และน้ำตาล อีกทั้งรักษาสมดุลของเกลือแร่ในร่างกายได้เป็นอย่างดี
ไขมันดี หรือ HDL (High Density Lipoprotein) เป็นไขมันชนิดดีที่ทำหน้าที่รวบรวมไขมันเลว LDL (Low-Density Lipoprotein) ที่สะสมอยู่ในเลือดเพื่อขับออกจากร่างกาย นอกจากจะช่วยลดน้ำหนักจากไขมันเลวได้แล้ว ยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงของเยื่อบุโพรงมดลูก, เสริมประสิทธิภาพของการผลิตไข่, กระตุ้นการตกไข่, ป้องกันเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ, ป้องกันภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศและป้องกันการปฏิสนธิล้มเหลว ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการมีลูกยาก (อ่านเพิ่มเติม: ไขมันดีคนท้อง ดีอย่างไร ทำไมคุณแม่อยากท้องต้องทาน)
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายนอกจากจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้แก่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายแล้ว ยังช่วยเพิ่มฮอร์โมนเพศได้อีกด้วยนะคะ สำหรับการออกกำลังกายที่ช่วยเพิ่มฮอร์โมนให้แก่ร่างกายคือการออกกำลังกายแบบใช้แรงต้าน (Resistance Exercise) เช่น การยกเวท ว่ายน้ำ ดึงยางยึด, การออกกำลังกายแบบผ่อนคลาย (Calming Exercise) เช่น การเดินช้า โยคะ รำมวยจีน และการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ (Stimulating Exercise) ทั้งนี้ครูก้อยแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกายเพื่อให้เลือกวิธีที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายตัวเองมากที่สุดค่ะ
3. จัดการความเครียด
การจัดการความเครียดสามารถทำได้ไม่ยาก เพียงแค่ฟังเพลงที่ชอบหรือฟังธรรมชาติบำบัด, ดูหนังเรื่องใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ, หาของทานอร่อยสักมื้อ หรือถ้าเป็นไปได้แนะนำให้ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางด้านอารมณ์ให้ใจเย็นลง มองโลกในแง่ดีมากยิ่งขึ้น รวมถึงจัดการเวลาในชีวิตให้เหมาะสม ไม่ควรนำความเครียดจากการทำงานกลับมาบ้านด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้คุณได้พักผ่อนหลังเลิกงานได้อย่างเต็มที่ ระดับความเครียดก็จะลดลงอยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่มากจนเกินไป ทำให้ฮฮร์โมนเพศไม่ถูกรบกวนจากฮอร์โมนความเครียดอย่างคอร์ติซอล
4. งดพฤติกรรมเสี่ยง
ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลทำให้ระดับฮอร์โมนเพศหญิงลดลง ในส่วนของบุหรี่นั้นมีนิโคตินที่ทำให้กรดไขมันในเลือดก่อตัวหนามากขึ้นจนกลายเป็นเส้นเลือดอุดตันบริเวณอวัยวะเพศ ส่งผลให้รังไข่หยุดกระบวนการ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ออกฤทธิ์ทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลง
Comentários