ฮอร์โมนไม่สมดุลเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้คุณแม่หลายคนมีลูกยาก ต่อให้ลองพยายามด้วยวิธีธรรมชาติมาตั้งนานแล้วแต่ลูกน้อยก็ยังไม่มาสักที วันนี้ครูก้อยจะมาแนะนำวิธีปรับฮอร์โมนให้สมดุล พร้อมมีลูก แบบง่าย ๆ ที่คุณแม่ทุกคนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง เพียงแค่ดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี ว่าแต่มีวิธีไหนบ้าง มาอ่านไปพร้อมกันเลยค่ะ
ฮอร์โมนไม่สมดุลคืออะไร
เป็นภาวะที่ต่อมไร้ท่อทำงานด้อยประสิทธิภาพลง ส่งผลให้ต่อมไร้ท่อผลิตฮอร์โมนออกมาควบคุมการทำงานของเซลล์ต่าง ๆ ได้น้อยลง และทำให้การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายด้อยประสิทธิภาพตามด้วย แม้ว่าภาวะฮอร์โมนไม่สมดุลโดยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นเมื่อมีอายุเพิ่มขึ้น แต่ในปัจจุบันพบว่ามีคุณแม่อายุน้อยที่มีภาวะดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจากสาเหตุต่าง ๆ ได้แก่
ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ภาวะความเครียดสะสมเรื้อรัง
รับประทานยาบางชนิดที่อาจส่งผลต่อฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิด ยารักษาโรคมะเร็ง
การรับประทานอาหารที่มีโภชนาการไม่เหมาะสม
สารเคมีปนเปื้อนจากสภาพอากาศที่เข้าสู่ร่างกาย
ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์หลังการผ่าตัดต่อมไทรอยด์
ได้รับยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานานจนป่วยเป็นโรคต่อมหมวกไตทำงานบกพร่อง
ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานไม่ดีเท่าที่ควรและผลิตสารทำลายต่อมหมวกไตจนกลายเป็นโรคแอดดิสัน (Addison's disease)
เมื่อฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล ส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่อร่างกายจนอาจสร้างความรำคาญในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการนอนหลับยาก รู้สึกร้อนวูบวาบ หรือมีเหงื่อออกตอนกลางคืน, รอบเดือนมาผิดปกติ, ความต้องการทางเพศลดลง, มีสิวเห่อขึ้นมากกว่าปกติ, หลงลืมง่าย, รู้สึกอ่อนเพลียตลอดเวลา, น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น, เครียดง่าย อารมณ์แปรปรวนบ่อยครั้ง เป็นต้น
ฮอร์โมนไม่สมดุล มีลูกยาก จริงไหม
จริงค่ะ เพราะฮอร์โมนไม่สมดุลจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของรังไข่ลดลง, ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ, อาจมีไข่ตกบ้างหรืออาจไม่มีไข่ตกเลยก็ได้, หากไข่ตกก็เป็นไข่ที่ด้อยคุณภาพ, รังไข่เสื่อมก่อนวัย หรือแม้กระทั่งผนังมดลูกไม่หนาตัวพอต่อการฝังตัว เมื่อไม่มีไข่ตกก็จะไม่มีไข่สำหรับปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนและไม่สามารถตั้งครรภ์ได้นั่นเองค่ะ ดังนั้นการปรับฮอร์โมนให้สมดุลจึงจำเป็นสำหรับคุณแม่อยากมีลูกทุกคนค่ะ
ปรับฮอร์โมนให้สมดุลด้วยการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี
1. พักผ่อนให้เพียงพอ
การพักผ่อนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายเป็นเรื่องสำคัญต่อทุกคน โดยเฉพาะคุณแม่ที่อยากมีลูก เนื่องจากฮอร์โมน LH (Luteinizing Hormone) เป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นให้รังไข่ปล่อยไข่ออกมารอการปฏิสนธิ หากพักผ่อนไม่เพียงพอก็จะทำให้การปล่อยไข่น้อยลง โอกาสตั้งครรภ์ก็น้อยลงด้วยเช่นกันค่ะ ทางที่ดีคุณแม่เตรียมท้องควรนอนหลับพักผ่อนวันละ 7-8 ชม. และควรนอนช่วงเวลา 20.00-22.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลานอนที่เหมาะต่อร่างกายมากที่สุด
เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายจะหลั่งสารเมลาโทนิน (Melatonin) เพื่อให้ร่างกายรู้สึกง่วง และเมื่อคุณแม่นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอแล้วก็จะทำให้ร่างกายผลิตโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) เพื่อให้คุณแม่หลับสนิทและซ่อมแซมระบบต่าง ๆ ในร่างกาย และที่สำคัญยังช่วยให้ระบบสืบพันธุ์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีโอกาสตั้งครรภ์มากกว่าผู้ที่นอนน้อยหรืออดนอนเป็นประจำด้วยค่ะ
นอกจากนี้การนอนหลับอย่างเพียงพอยังช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนแห่งความเครียด (Cortisol) ที่มากขึ้น ส่งผลให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานด้อยประสิทธิภาพลง รู้สึกอ่อนเพลียตลอดทั้งวัน แถมยังเครียดง่ายขึ้น เป็นเหตุทำให้เกิดภาวะไข่ไม่ตก ไข่เติบโตไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วก็จะฝังตัวที่มดลูกยากขึ้นด้วยค่ะ
2. รับประทานอาหารเตรียมท้อง
หลายคนอาจมองข้ามโภชนาการในอาหารจนเผลอทำร้ายสุขภาพร่างกายตัวเองโดยไม่รู้ตัว สำหรับอาหารที่ครูก้อยขอแนะนำจะเน้นไปที่การบำรุงเซลล์ไข่ให้แข็งแรง ได้แก่
โปรตีนจากพืชและสัตว์ ช่วยบำรุงเซลล์และซ่อมแซมเซลล์ส่วนที่สึกหรอของร่างกาย อีกทั้งบำรุงเซลล์ไข่ให้อ้วนโตสมบูรณ์และสร้างผนังมดลูกให้แข็งแรง ได้แก่ ไข่, ปลา, อกไก่ไม่ติดมัน, ถั่วเหลือง, งาดำ
ผักใบเขียว ช่วยลดการอักเสบและปกป้องเซลล์ไข่ไม่ให้ถูกทำลายจากสารอนุมูลอิสระ ช่วยเร่งการตกไข่ กระตุ้นให้รอบประจำเดือนเป็นปกติ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการตกไข่ ไข่สุกพร้อมปฏิสนธิ ได้แก่ บร็อคโคลี, วีทกราส, คะน้าใบหยัก หรือผักเคล, หน่อไม้ฝรั่ง, อาโวคาโด
อาหารทะเล ช่วยให้เลือดไหลเวียนไปยังอวัยวะสืบพันธุ์ได้ดี, ปรับสมดุลฮอร์โมนเพศ, เพิ่มความต้องการทางเพศ, กระตุ้นรังไข่ให้ผลิตไข่สำหรับปฏิสนธิ ได้แก่ ปลาทู ปลาอินทรี ปลาแซลมอน หอยนางรม
ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์สืบพันธุ์เสียหายและชะลอความเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย ได้แก่ สตรอว์เบอร์รี บลูเบอร์รี แบล็คเบอร์รี
ข้าวกล้องและขนมปังไม่ขัดสี ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและขับถ่ายอย่างสม่ำเสมอ ไม่มีของเสียตกค้างอยู่ในร่างกาย, มีช่วยเสริมประสิทธิภาพในการสร้างตัวอ่อน ได้แก่ ข้าวกล้อง, ขนมปังโฮลวีต
ไขมันดี หรือ HDL (High Density Lipoprotein) เป็นไขมันชนิดดีที่คอยรวบรวมไขมันเลว หรือ LDL (Low-Density Lipoprotein) ที่สะสมอยู่ในเลือดเพื่อขับออกจากร่างกาย นอกจากจะช่วยลดน้ำหนักจากไขมันเลวได้แล้ว ยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงของเยื่อบุโพรงมดลูก, เสริมประสิทธิภาพของการผลิตไข่, กระตุ้นการตกไข่, ป้องกันเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ, ป้องกันภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศและป้องกันการปฏิสนธิล้มเหลว ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการมีลูกยาก (อ่านเพิ่มเติม: ไขมันดีคนท้อง ดีอย่างไร ทำไมคุณแม่อยากท้องต้องทาน)
3. ควบคุมน้ำหนักอย่างถูกวิธี
รู้ไหมคะว่าน้ำหนักตัวที่มากหรือน้อยเกินไปนั้นมีผลต่อการมีลูกด้วยนะคะ เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงอาจทำงานผิดปกติ ส่งผลทำให้ไข่ไม่ตกและประจำเดือนมาผิดปกติมากกว่าคุณแม่ที่มีน้ำหนักตัวตามเกณฑ์มาตรฐานมากถึง 20% นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ PCOS (Polycystic Ovarian Syndrome) ที่หากต่อให้ตั้งครรภ์แล้วแต่ก็มีความเสี่ยงต่อการแท้งลูกในช่วง 3 เดือนแรกอีกด้วยค่ะ หากคุณแม่ต้องการเตรียมความพร้อมต่อการตั้งครรภ์แล้วล่ะก็ แนะนำให้ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละ 30 วินาที เพราะนอกจากจะช่วยลดไขมันส่วนเกินออกจากร่างกายแล้ว ยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อ กระดูก เอ็น ปอด และหัวใจอีกด้วย ช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของการมีลูกยากได้ด้วยค่ะ
4. จัดการความเครียดให้ได้
นอกจากการนอนน้อยแล้ว ฮอร์โมนแห่งความเครียดอย่างคอร์ติซอล (Cortisol) สามารถผลิตได้เมื่อคุณแม่มีความเครียดสะสมเป็นเวลานาน ส่งผลให้ระดับคอร์ติซอลมีปริมาณที่สูงขึ้นจนทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานบกพร่องและเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมาจนเป็นสาเหตุให้ท้องยาก สำหรับวิธีแก้เครียดนั้นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการนั่งฟังเพลงเบา ๆ หรืออาจเปิดดนตรีบำบัด วาดรูป อ่านหนังสือ เดินเล่น ถักโครเชต์ พูดคุยกับคนในครอบครัวหรือเพื่อน หรืออาจลองทำกิจกรรมใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำก็จะดีไม่น้อยเลยค่ะ
5. งดพฤติกรรมเสี่ยง
ไม่ว่าจะเป็นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่เป็นประจำก็ตาม เพราะพฤติกรรมเหล่านี้มีผลต่อการตั้งครรภ์โดยตรง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้การทำงานของฮอร์โมนเพศผิดปกติโดยการฝังตัวกับเซลล์ในโครงสร้างรังไข่ จนเกิดภาวะไข่ไม่ตก ส่วนบุหรี่มีสารที่เข้าไปรบกวนการทำงานของระบบสืบพันธุ์ เป็นเหตุทำให้คุณภาพไข่ลดลง โอกาสตั้งครรภ์ก็ยากขึ้น
บทความที่น่าสนใจ
Commentaires