แม่ๆ ที่อยากมีเบบี๋ รอวันนี้กันใช่มั้ยคะ วันที่ประจำเดือนขาด! เพราะมันเป็นสัญญาณว่าเราอาจตั้งครรภ์....แต่! กรณีที่เมนส์ขาด ตรวจแล้วก็ไม่ท้อง เมนส์ขาดหายเป็นประจำ ไม่มาสม่ำเสมอ อันนี้ไม่ได้ลุ้นท้อง แต่ต้องตรวจแล้วค่ะว่าเรามีปัญหาอะไร
สตรีที่ปจด.ขาด รอบเดือนยาวกว่า 35 วัน บางรายประจำเดือนไม่มาเป็นปี แบบนี้ไม่ได้ลุ้นท้อง แต่เข้าข่ายภาวะมีบุตรยากค่ะ!
สาเหตุหลักที่ทำให้ประจำเดือนผิดปกติคือ ภาวะ PCOS หรือ ภาวะถุงน้ำหลายใบในรังไข่ ส่งผลให้ฮอร์โมนไม่สมดุล ประจำเดือนรอบยาว ไข่ไม่ตกเรื้อรัง! ภาวะ PCOS พบได้ทั่วไปในสตรีวัยเจริญพันธุ์ และมันเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงท้องยาก!
แม่ๆ ลองเช็ครอบประจำเดือนดังนี้ค่ะ
พิจารณาจากจำนวนรอบเดือนที่น้อยกว่า 10 รอบเดือนใน 1 ปี หรือ มีรอบเดือนยาว 35 วันต่อ 1 รอบเดือน (ซึ่งรอบเดือนปกติมี 28 วัน) ถึงแม้ว่าจะมีรอบเดือนยาวแบบนี้เป็นปกติก็ตาม หากพบอาการแบบนี้ สันนิษฐานไว้ได้เลยว่ามีความไม่สมดุลของฮอร์โมน อาจเข้าข่าย PCOS
เอาล่ะค่ะ ประจำเดือนขาดแต่ไม่ท้อง ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาภาวะ PCOS ค่ะ โดยแพทย์จะตรวจเป็น 2 กรณีคือ
(1) อัลตร้าซาวด์ผ่านช่องคลอด เช็ครังไข่ เช็คจำนวนฟองไข่
การวินิจฉัยข้อนี้มักจะเข้าใจสับสนกับ ซีสต์ในรังไข่ ผู้หญิงจำนวนมากที่อัลตร้าซาวด์พบซีสต์ในรังไข่ แต่ไม่ได้มีภาวะ PCOS ซึ่งซีสต์ที่ไม่ใช่ PCOS นี้โดยปกติจะเป็นก้อนซีสต์ที่มีของเหลวอยู่ข้างไหนและอาจฝ่อสลายไปได้เอง
แต่ PCOS นั้นจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ซีสต์ แต่มันคือถุงหุ้มเซลล์ไข่ หรือที่เรียกว่า follicles ที่ไม่เจริญเติบโตและกระจุกตัวกันอยู่ในรังไข่
อธิบายดังนี้ โดยธรรมชาติแล้วรังไข่จะผลิตเซลล์ไข่ ซึ่งเซลล์ไข่จะถูกห่อหุ้มด้วย follicle เมื่อไข่เจริญเติบโตพร้อมตกในแต่ละรอบเดือน follicle ก็จะปริออก และปล่อยเซลล์ไข่ตกลงมา
แต่ในกรณีผู้หญิงที่อยู่ในภาวะ PCOS การมีฮอร์โมนเพศชายที่มากเกินไปส่งผลให้ follicles ไม่เจริญเติบโต เซลล์ไข่หยุดการเจริญเติบโตและกระจุกตัวรวมกันอยู่ที่รังไข่นั่นเองค่ะ
ในการอัลตร้าซาวด์จะเห็นฟองไข่เรียงกันเป็นฟองเล็กๆ คล้ายๆ กับสร้อยมุก
เกณฑ์ประเมินในข้อนี้คือ เมื่ออัลตร้าซาวด์ตรวจดูแล้วพบถุงหุ้มไข่กระจุกตัวรวมกันมากกว่า 12 ใบ และรังไข่มีขนาดใหญ่ประมาณ 10 ซม. หรือมากกว่านั้น วินิจฉัยว่ามีภาวะ PCOS ค่ะ
(2) เจาะเลือดเช็คฮอร์โมน LH
LH: Luteinizing Hormone หรือเรียกว่า "ฮอร์โมนไข่ตก" เป็นฮอร์โมนที่ปล่อยไข่ให้ตก พร้อมสำหรับการปฏิสนธิ เป็นฮอร์โมนธรรมชาติที่ร่างกายสร้างขึ้นจากต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) โดยฮอร์โมน LH จะทำหน้าที่กระตุ้นไข่ในเพศหญิงให้ตกลงมาตามรอบเดือน หากไม่มีฮอร์โมนดังกล่าวจะไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ ฮอร์โมน LH จะหลั่งออกมาในช่วงที่จะมีการตกไข่ ซึ่งจะมีผลทำให้รังไข่ปล่อยไข่ออกมาเพื่อรอการปฏิสนธิ
ผู้ที่อยู่ในภาวะ PCOS (ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง หรือ ถุงน้ำหลายใบในรังไข่) จะมีค่า LH สูงผิดปกติ
เพราะ PCOS เป็นภาวะที่ร่างกายมีฮอร์โมนเพศชายสูง ก่อให้เกิดไข่ไม่ตกเรื้อรัง ดังนั้นร่างกายจึงต้องผลิตฮอร์โมน LH ให้สูงขึ้นอีกเพื่อต้องการให้ไข่ตก
คนที่เป็น PCOS จึงตรวจพบระดับฮอร์โมน LH สูงกว่าปกตินั่นเองค่ะ
.
.
ภาวะ PCOS เป็นภาวะที่ฮอร์โมนเพศไม่สมดุล มีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ภาวะดื้ออินซูลิน โรคอ้วน หรือ พันธุกรรม อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการรับประทานอาหาร เน้นโปรตีน เน้นคาร์บเชิงซ้อน งดหวาน งดอาหารมันและทอด ประกอบกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยปรับฮอร์โมนให้สมดุลขึ้นได้ เป็นการเยียวยาภาวะ PCOS เพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ได้ง่ายขึ้นค่ะ
Comments